รถไฟชานเมือง สายสีแดง และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ระบบขนส่งมวลชนทางราง เพื่อเศรษฐกิจของประเทศ
บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) กล่าวถึงความสำคัญของโครงการรถไฟชานเมือง สายสีแดง และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดปี 2564 รถไฟชานเมือง สายสีแดง พร้อมเปิดให้บริการประชาชน
ด้วยนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลในการนำระบบขนส่งมวลชนทางราง หรือรถไฟฟ้า เป็นระบบขนส่งหลักในการขนส่งทั้งภายในกรุงเทพ และระหว่างมืองนั้น ระบบรางจึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ และเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางของประชาชน รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศ ผ่านการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้า รวมถึงได้พัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมือง สายสีแดง และโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อขยายความเจริญไปยังชานเมืองและปริมณฑล ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านการลงทุน
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เผยว่า “ในส่วนของโครงการรถไฟชานเมือง สายสีแดง ระยะที่ 1 นั้น แบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง โดยทั้ง ๒ เส้นทาง จะเริ่มจากสถานีกลางบางซื่อ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ – รังสิต) และ สายสีแดงอ่อน (บางซื่อ – รังสิต) โดยในอนาคตอันใกล้จะมีการเพิ่มเติมส่วนต่อขยายออกไปอีก ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีได้มติให้การรถไฟฯ ดำเนินการส่วนต่อขยายของโครงการจาก รังสิตไปเชียงราก และจากตลิ่งชันไปศาลายา ซึ่งเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการรถไฟชานเมือง สายสีแดง จะเปิดให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่ทันสมัย มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงต่อเวลา สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางของคนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม จะเป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครโซนเหนือ-ใต้ ได้แก่ อยุธยา-กรุงเทพ-ราชบุรี ส่วนรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนจะเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครโซนตะวันออก – ตะวันตก ได้แก่ นครปฐม-กรุงเทพ-ฉะชิงเทรา มีจุดเชื่อมต่อหลักที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเมื่อสถานีกลางบางซื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รถไฟฟ้า สายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าชานเมือง และรถไฟทางไกลเส้นทางต่างๆ จะเข้ามาให้บริการผู้โดยสารที่สถานีนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของการรถไฟแห่งประเทศ ที่ตั้งใจจะพัฒนาให้สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางของระบบรถไฟทางไกล แทนสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อลดจำนวนขบวนรถไฟที่เข้าสู่สถานีหัวลำโพงให้เหลือน้อยที่สุด แก้ไขปัญหาการจราจร
ด้านเทคโนโลยีและความทันสมัยของรถไฟฟ้าสายสีแดง ในส่วนของระบบรถไฟฟ้าจะใช้เทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น สำหรับระบบอาณัติสัญญาณจะใช้ระบบ ETCS ตามมาตรฐานยุโรป โดยรูปแบบของขบวนรถไฟฟ้าที่ให้บริการจะเป็นรถไฟฟ้าวิ่งบนรางขนาด 1 เมตร มีระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือศีรษะ โดยขบวนรถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภท 4 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,120 คน/เที่ยว และประเภท 6 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,710 คน/เที่ยว
นอกจากนั้น สถานีดอนเมืองยังเป็นอีกหนึ่งจุดเชื่อมต่อที่สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปท่าอากาศยานดอนเมือง ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ระยะที่ ๑ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ และจะทดสอบระบบการเดินรถในช่วงกลางปี พ.ศ. 2563 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ในช่วงเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2564 ตั้งเป้าในช่วงแรกที่เปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการวันละประมาณ ๘๖,๐๐๐ คน/วัน ซึ่ง รฟฟท. ได้เร่งรัดดำเนินการตามนโยบายของทั้งด้าน Connectivity & Accessibility เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารให้สามารถเข้าถึงการใช้บริการได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ”
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นั้น จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะทำให้การเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงจังหวัดหรือภูมิภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลา และต้นทุนในการเดินทาง เมื่อเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่น โดยเป็นโครงการเชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยาน ในเขตกรุงเทพมหานครและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ทั้งนี้ ยังมีการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) และพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา โดยใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) มีส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีรถไฟฟ้าพญาไท ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง และจากสถานีไฟฟ้าลาดกระบัง ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทางประมาณ 220 กม. ประกอบด้วยสถานีจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และ สถานีอู่ตะเภา ซึ่งรถไฟจะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง สำหรับช่วงการเดินทางระหว่างเมือง คือ สถานีสุวรรณภูมิ ถึง สถานีอู่ตะเภา และความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง สำหรับช่วงการเดินทางในเมือง คือ สถานีดอนเมือง ถึง สถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งเป้าหมายหลักของโครงการ เพื่อให้การเชื่อมต่อระหว่าง 3 ท่าอากาศยาน มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศให้มีการลงทุน” นายสุเทพกล่าว