ทำความรู้จักระบบรางรถไฟฟ้าแอร์พอรต์ เรล ลิงก์
จากการให้บริการของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ขนส่งสาธารณะระบบรางของประเทศไทย ซึ่งให้บริการรับส่งผู้โดยสารจากชานเมืองเข้าสู่ตัวเมืองชั้นใน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารที่มีความต้องการเดินทางไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึงกว่าหนึ่งแสนคนต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่า ระบบขนส่งสาธารณะประเภทนี้ ระบบรางถือเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนขบวนรถที่ต้องมีระบบที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาและการซ่อมบำรุงที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งผู้โดยสารปริมาณมากและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
นายนวพล บุญสุวรรณ ผู้จัดการแผนกรางและระบบจ่ายไฟเหนือราง บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด เผยว่า “รางของรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นรางขนาดมาตรฐานที่ใช้ในสากล มีขนาดความกว้างของรางอยู่ที่ 1.435 เมตร มีระยะความยาวทั้งสิ้น 28 กิโลเมตรเศษ ครอบคลุมการบริการทั้ง 8 สถานีตั้งแต่สถานีสุวรรณภูมิถึงสถานีพญาไท มีความสามารถในการรับน้ำหนักของรางกำหนดโดย International Union of Railways (UIC) ซึ่งเป็นองค์กรมาตรฐานสากลในระบบรางที่ใช้ทั่วโลกอยู่ที่ UIC60 หรือความยาว 1 เมตร สามารถรับน้ำหนักได้ที่ 60 กิโลกรัม ในส่วนของกระแสไฟฟ้า เป็นการใช้ไฟฟ้ากระแสตรง แรงดันไฟฟ้า 25 กิโลโวลต์ จำนวน 1 เฟส และด้วยลักษณะพิเศษเฉพาะของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งมีความพิเศษกว่ารถไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งชานเมือง และวิ่งด้วยความเร็วค่อนข้างสูง ดังนั้น อุปกรณ์ต่างๆของระบบรางจึงมีความพิเศษตามมา อาทิ ชุดประกอบของตัวยึดตัวราง อุปกรณ์ยึดการสั่นคลอนขณะที่รถไฟเคลื่อนที่ประกอบด้วยตัวแผ่นยางรองกระแทกซึ่งสามารถรองรับความเร็วได้กว่า 160 กิโลเมตร/ชม ตลอดจนระบบติดตั้งที่ต้องมีความแตกต่างกับรถไฟฟ้าที่วิ่งในเมืองซึ่งวิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่า
ในส่วนของ การดูแลรักษาระบบรางของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในเชิงป้องกันนั้น จะสามารถปฏิบัติงานได้หลังจากปิดให้บริการแล้วเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการซ่อมบำรุงตามวาระ เช่น วาระหนึ่งสัปดาห์ วาระหนึ่งเดือน วาระสามเดือน วาระหกเดือน จนถึงวาระหนึ่งปี โดยในแต่ละวาระนั้น การซ่อมบำรุงรักษาจะแตกต่างกัน และจะมีการแบ่งพื้นที่ในการดูแล ซึ่งการดูแลในแต่ละวาระจะมีการวางแผนตามสถานการณ์ โดยทีมซ่อมบำรุงระบบรางในปัจจุบันมีประมาณ 20 คน ประกอบด้วยวิศวกร 5 คน และช่างเทคนิค 15 คน ประจำการทั้งในช่วงเวลากลางวันในกรณีที่อาจมีการซ่อมบำรุงในระหว่างทำการ และในตอนกลางคืน ซึ่งจะเป็นการซ่อมบำรุงประจำวันและตามแผนวาระ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมบำรุง จะมีตั้งแต่อุปกรณ์ช่างพื้นฐาน อาทิ ประแจ ไขควง น๊อต ไปจนถึงอุปกรณ์พิเศษ เช่น เครื่องวัด Ultra-Sonic Testing ไว้ใช้ทดสอบการแตกร้าวภายในราง อุปกรณ์ขยับน๊อตเพื่อคง track gauge หรือความกว้างของรางให้คงอยู่ในขนาดมาตรฐานหรือ1.435 เมตรอยู่เสมอ เนื่องจากในขณะที่รถไฟฟ้าเคลื่อนที่ในแต่ละวันจะเกิดการปีนของล้อและอาจทำให้ความกว้างของรางมีขนาดเปลี่ยนแปลงไปจากการใช้งาน ตลอดจนอุปกรณ์ขยับสายส่งไฟฟ้า ซึ่งต้องมีการปรับให้ตึงได้มาตรฐานอยู่เสมอ เป็นต้น
ทั้งนี้ อยากให้ผู้โดยสารเชื่อมั่นในความปลอดภัยและในการให้บริการของของรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะระบบรางที่บริหารงานโดยรัฐฯ และยังมีการพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนการดูแลระบบรางในเชิงป้องกันอยู่เสมอ ยึดหลักมาตรฐานและการบริการระดับสากลมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก ISO9001/2015 ด้านการซ่อมบำรุง โดยเราจะยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และสร้างปลอดภัยสูงสุดในทุกการเดินทางของผู้โดยสาร” นายนวพลกล่าว