รัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมท้องถิ่นก้าวหน้า โชว์นวัตกรรมเพื่องานบริการประชาชนในท้องถิ่นแข่งขันให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน “มอบรางวัลท้องถิ่นดิจิทัล ประจำปี 2566”
DGA หรือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดงาน “มอบรางวัลท้องถิ่นดิจิทัล ประจำปี 2566” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยได้รับเกียรติจาก จาก นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมมอบรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลให้ 20 อปท.จากทั่วประเทศ โดยมี ดร.นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เผยถึง “ความมุ่งมั่นของ DGA กับการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล” เพื่อเป็นการรวมพลังจากภาพเล็กสู่จิ๊กซอว์ใหญ่ร่วมขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล พร้อมด้วย นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เผยถึง “มิติใหม่การให้บริการประชาชนในท้องถิ่นด้วยดิจิทัล” ใช้เทคโนโลยีในการให้บริการประชาชนแต่ละพื้นที่ให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ในปีนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงาน อปท. ทั่วประเทศเข้าร่วมนำเสนอผลงานกว่า 60 ผลงาน จาก 59 อปท.ซึ่งได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก 12 หน่วยงาน ร่วมพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่โดดเด่น สร้างประโยชน์แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางและง่ายต่อการใช้บริการ โดยมีหน่วยงานในแต่ละพื้นที่มาร่วมให้กำลังใจกันเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุม ซี อาเซียน พระราม 4 อาคารไทยเบฟควอเตอร์ กรุงเทพฯ
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวก ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยรัฐบาลจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้บริการมาเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส ขจัดช่องโหว่ในการทุจริต ลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล รวมถึงการพัฒนา Super App ที่รวมบริการของรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าใช้งานจากประชาชนได้สะดวกทุกที่ ทุกเวลา อาทิ แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ที่ประชาชนสามารถ ตรวจสอบสิทธิสวัสดิการ อาทิ เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ เบี้ยเด็กแรกเกิด เป็นต้น ดังนั้น รางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประจำปี 2566 นี้ จึงเป็นเสมือนรางวัลของหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นอันทรงคุณค่าและเป็นความภาคภูมิใจ เสมือนเป็นตัวแทนของรัฐบาลในความมุ่งมั่นดูแลประชาชน ให้ได้รับความสะดวก ประหยัดเวลาการเดินทาง และค่าใช้จ่าย ทั้งนี้หน่วยงานที่ได้รับรางวัลประเภทยอดเยี่ยม จะได้เข้ารับรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2566 จากท่านนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
ดร.นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา DGA มุ่งมั่นดำเนินการยกระดับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลร่วมกับทุกหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ปี พ.ศ 2566-2570 เพื่อให้การบริหารงาน มีความคล่องตัว รวดเร็วและขยายสู่หน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่น สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2565 ที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกของประชาชน เพิ่มช่องทางออนไลน์ในการติดต่อราชการ สนับสนุนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า การเฟ้นหา อปท. ที่มีผลงานโดดเด่นจากอปท. ทั่วประเทศ ได้มีการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากเกณฑ์การประเมินรางวัล 4 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 ปัญหา หมวดที่ 2 นโยบายและแผน หมวดที่ 3 กระบวนการทำงาน และ หมวดที่ 4 ผลลัพธ์การพัฒนาต่อยอดเป็นรูปธรรม ซึ่งในปี 2566 นี้ขอแสดงความยินดีกับ เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา กับผลงาน Big Data เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ และ เทศบาลตำบลครึ่ง จังหวัดเชียงราย กับโครงการบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการ บนพื้นฐานดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน (แอพพลิเคชันถังเงิน ถังทอง) ที่ได้รับรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทยอดเยี่ยมทั้ง 2 เทศบาล และ เทศบาลอีก 18 เทศบาล ที่ได้รับรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทดีเด่น ซึ่งจากความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้ง 20 หน่วยงาน สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานระดับท้องถิ่นมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นต้นแบบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศหันมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงการบริการประชาชนให้มีความทันสมัย สะดวก รวดเร็วมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งสู่ ‘ท้องถิ่นดิจิทัล’ ให้เกิดขึ้นได้จริง
“ท้ายที่สุดนี้ DGA ขอขอบคุณคณะกรรมการพิจารณาผลทุกท่านที่ได้เสียสละเวลาร่วมเป็นกรรมการพิจารณาคัดเลือกเพื่อเฟ้นหา อปท. ที่มีผลงานโดดเด่นจนได้รับรางวัลในครั้งนี้ และขอเป็นกำลังใจให้กับ อปท.ที่ได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ ขอให้มุ่งมั่นพัฒนาขยายผลต่อยอดบริการต่อไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของท่าน และส่งผลงานเข้ามาประกวดอีกในการประกวดครั้งหน้า เพื่อร่วมกันพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้เกิดขึ้นจริงในระดับท้องถิ่น ต่อไปครับ”
รายชื่อหน่วยงานที่ได้รางวัลท้องถิ่นดิจิทัล ประจำปี 2566
รางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทยอดเยี่ยม 2 รางวัล ได้แก่ (เรียงตามตัวอักษร)
– เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ผลงาน Big Data เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ
– เทศบาลตำบลครึ่ง จังหวัดเชียงราย ผลงานโครงการบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการ บนพื้นฐานดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน (แอพพลิเคชันถังเงิน ถังทอง)
รางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทดีเด่น 18 รางวัล ได้แก่ (เรียงตามตัวอักษร)
– เทศบาลนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ผลงานแพลตฟอร์ม SMART PRAPA ทางเลือกใหม่ของการให้บริการ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย
– เทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี ผลงานโครงการระบบบริหารจัดการคลองรังสิตประยูรศักดิ์เพื่อชาวนครรังสิตอย่างยั่งยืน
– เทศบาลเมืองตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ผลงานการพัฒนาระบบบริการประชาชนในรูปแบบ เว็บแอปพลิเคชัน (Smart-Takhli ) “แจ้งทุกข์/แจ้งเหตุ”
– เทศบาลเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ผลงานโครงการเครือข่ายการดูแลสุขภาพประชาชนผ่านระบบบริการช่วยเหลือทางโทรศัพท์ (Smart Help Care Service)
– เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ผลงานการส่งเสริมสุขภาพประชาชนกลุ่มเปราะบาง ด้วยระบบ “เมืองพิบูล ยิ้มกว้างอย่างเป็นสุข” (Phibun Big Smile Healthy Care System)
– เทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ผลงานการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการพัฒนารายได้
– เทศบาลตำบลเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชลบุรี ผลงานการจัดการเสียภาษีออนไลน์
– เทศบาลตำบลทับมา จังหวัดระยอง ผลงานโครงการเพิ่มศักยภาพ และพัฒนาแอปพลิเคชัน (Application) เพื่อบริการประชาชน
– เทศบาลตำบลนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ผลงานระบบชำระค่าธรรมเนียมขยะ
– เทศบาลตำบลโนนสะอาด จังหวัดหนองบัวลำภู ผลงานนวัตกรรมโนนสะอาดเทศบาลตำบลอัจฉริยะ Smart municipal district
– เทศบาลตำบลบางเสร่ จังหวัดชลบุรี ผลงาน B-Buddy Bangsaray
– เทศบาลตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน ผลงานศูนย์ดิจิทัลบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ONE STOP SERVICE เทศบาลตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
– เทศบาลตำบลบวกค้าง จังหวัดเชียงใหม่ ผลงาน Buakkhang E-Service
– เทศบาลตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน ผลงานโครงการระบบบริหารจัดการงานสวัสดิการสังคม ตำบลอุโมงค์ (UMONG e-social welfare system)
– เทศบาลตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน ผลงานโครงการห้องเรียนอัจฉริยะ โรงเรียนเทศบาลอุโมงค์ 1
– องค์การบริหารส่วนตำบลวัดไทรย์ จังหวัดนครสวรรค์ ผลงานโครงการพัฒนาและยกระดับการให้บริการประชาชน (E-Service)
– องค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ จังหวัดฉะเชิงเทรา ผลงานการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)
– องค์การบริหารส่วนตำบลสิงหนาท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลงานระบบบริการประชาชนออนไลน์ E-Service