การจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ําในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และระดับภาค และการปรับปรุง แผนงานระยะปานกลาง (MTEF) เป็นการดําเนินงานตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกรมชลประทาน ในเรื่องการปรับปรุงกระบวนการจัดทําแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้กระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานมีแนวทางที่ชัดเจน สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ.2561 – พ.ศ.2580) อย่างเป็นรูปธรรม เป็นการวางแผนการพัฒนาในระดับจังหวัด ทั้งโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยวิเคราะห์ปัญหา เชิงพื้นที่ (Area base) และพิจารณาศักยภาพตั้งแต่ระดับลุ่มน้ำย่อยขึ้นมา เพื่อให้เห็นศักยภาพการพัฒนาอย่างแท้จริง
จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่เป็นแหล่งต้นน้ำทางภาคเหนือ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีแนวเขตติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก จากข้อมูลระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริการจัดการเชิงรุก ออนไลน์มีพื้นที่ 7,992,050 ไร่ หรือประมาณ 12,787 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศ โดยทั่วไปของจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณร้อยละ 94 เป็นพื้นที่ลาดชันสูง มีพรมแดนที่ติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ รวมทั้งสิ้นยาว 483 กิโลเมตรแบ่งเป็น พรมแดนทางบกยาวประมาณ 326 กิโลเมตรและพรมแดนทางน้ำยาวประมาณ 157 กิโลเมตร ทุกอําเภอในจังหวัดมีอาณาเขตติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น โดยในฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนจัด อากาศหนาวจัด ในฤดูหนาว และฝนจะตกชุกในฤดูฝน
กาแฟ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกชนิดหนึ่ง การปลูกกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนรวมทั้งแม่ฮ่องสอน เกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงก่อตั้งโครงการหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2512 จึงได้เริ่มมีการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกพืชเมืองหนาวเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น และทรงมีพระราชวินิจฉัยต่อการวิจัยและส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้า เพื่อเป็นรายได้แทนการปลูกพืชเสพติด
จังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ในการปลูกพืชเศรษฐกิจ กาแฟ จึงจัดทำโครงการส่งเสริมองค์ความรู้และเพิ่มมูลค่าการแปรรูปผลผลิตกาแฟจังหวัดแม่ฮ่องสอนขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาการแปรรูปผลผลิตกาแฟของจังหวัดมีความสอดคล้อง และเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ ทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูผผลผลิตกาแฟ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในการแปรรูปผลผลิตกาแฟ และมีจำนวนเกษตรกรที่สามารถผลิตกาแฟที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานการรับรองภายใต้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (BCG Value Chain เกษตรไทยสู่ 3 สูง “ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง’”) เพิ่มมากขึ้น โดยใช้ BCG Model เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อน
แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดภัยแล้ง อุทกภัยที่รุนแรง ตลอดจนไฟป่าที่มักจะพบเห็นได้บ่อยในเขตภาคเหนือ ของประเทศไทย ที่มีสาเหตุมาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือจากฝีมือมนุษย์ จากการจุดไฟในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การหาของปา หรือจากกิจกรรมต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ จากสาเหตุที่พื้นที่ป่าต้นน้ำลดลง และแหล่งกักเก็บน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ
นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน ระบุว่า กรมชลประทานในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบในการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดหาน้ำให้เพียงพอและทั่วถึง ได้ตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ และการประกอบอาชีพการเกษตร มีความจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่า ดิน และน้ำ ในพื้นที่ต้นน้ำภาคเหนือ มีระยะเวลาการดำเนินงาน 210 วัน เริ่มตั้งแต่ เดือนมิถุนายน 2566 ถึงเดือนกันยายน 2566 มีหมู่บ้านเป้าหมายจำนวน 10 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านเลโคะ บ้านแม่ลามาหลวง บ้านทิยาเพอ บ้านห้วยไชยยงค์ บ้านกลอโคะ บ้านห้วยน้ำใส บ้านซื่อมือ บ้านทีฮิอลือ บ้านห้วยม่วง และบ้านแม่หาด เพื่อการพัฒนาการปลูกพืชกาแฟ สินค้ากาแฟ และพืชเมืองหนาว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอาชีพ แก้ไขปัญหาความเดือนร้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ดีมีสุขต่อไป