วิสาหกิจศูนย์ข้าวชุมชนจัดโครงการศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์การทำนา ศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี
นายรัชพล สว่างทุกข์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี กล่าวถึงการนำชมงานในครั้งนี้ว่า เพื่อให้เกษตรกรในจังหวัดลพบุรี ได้มีความรู้ความเข้าใจ ในกระบวนการผลิตตามระบบการจัดการคุณภาพมาตรฐาน ตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ไม่มีสารตกค้าง หรือผลผลิตไม่ตรงตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เช่น มีพันธุ์ปน มีสิ่งเจือปน เกินมาตรฐาน เป็นต้น การปลูกข้าวคุณภาพดี จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการลดปัญหาการผลิตตั้งแต่การเตรียมแปลง การคัดเมล็ดพันธุ์ดี การดูแลบำรุงรักษา การป้องกันกำจัดศัตรูข้าว การตัดพันธุ์ปน ตลอดจนการควบคุมคุณภาพผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ลดการใช้น้ำด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมี ลดผลกระทบต่อสุขภาพผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งหลังจากการดูงานในครั้งนี้แล้วเราหวังว่าเกษตรกรที่ร่วมโครงการนี้จะสร้างมาตรฐานที่ดีขึ้นในการพัฒนาข้าวให้มีมาตรฐานและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ชุมชนตำบลไร่มะขาม
วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม เริ่มต้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกร ที่มีแนวคิดริเริ่มทำเมล็ดพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยใช้พื้นที่กลุ่มเป็นสถานที่ทดลอง เมื่อปีพ.ศ. 2550 โดยผลิตภัณฑ์ข้าวใหม่ขึ้นมา ซึ่งข้าวพันธุ์ใหม่นี้ชื่อว่า อุไร 1 ตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติกับคุณอุไร กาลปักษ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านลาด ซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงข้าวพันธุ์นี้ขึ้นมา และพัฒนาพันธุ์ต่อเนื่อง
“บรรพต มามาก” เลขาวิสาหกิจชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชน ต.ไร่มะขาม กล่าวถึงการทำงานของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม ว่าแรกเริ่มจากการพัฒนาพันธุ์ข้าว เราได้พยายามต่อยอดให้เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ โดยใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาพัฒนาโรงสีขนาดย่อมเยาแต่มีคุณภาพเทียบเท่าโรงสีมาตรฐานตั้งแต่ปี 2560 จนถึงวันนี้ถือว่าเรามีระบบการทำงานที่ครบวงจร จนถึงตอนนี้เราเรียนรู้ว่าจริงๆแล้วรายได้จากการขายข้าวสารไม่ได้มีมากอะไร แต่ผลพลอยได้ที่เกิดจากการขัดสีข้าวต่างหากจะก่อให้เกิดรายได้มากขึ้นเมื่อเรานำมาแปรรูปไม่ว่าจะเป็นรำข้าวที่สามารถนำมาทำเป็นน้ำมันรำข้าว หรือแกลบที่นำมาให้พลังงาน และปลายข้าวซึ่งแปลรูปมาเป็นอาหารประเภทแป้งต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากตัวเม็ดข้าวสารเองก็มีหลากหลาย ตอนนี้เรามีกำลังในการผลิตข้าวได้อยู่ที่ 1,000 ตันซึ่งแน่นอนว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการซึ่งตรงนี้เรายังต้องมีการพัฒนาต่อไป
นาบุญข้าวหอม
นอกจากนี้ยังได้เข้าดูงานที่ แหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์การทำนาตามภูมิปัญญา (นาบุญข้าวหอม) นายนริศ เจียมอุย (ลุงจี๊ด) ผู้ก่อตั้ง นาบุญข้าวหอม ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลไร่ส้ม-เวียงคอย จังหวัดเพชรบุรี มีเป้าหมายปลูกข้าวแบบปลอดภัยไร้สารพิษ ค้นคว้าจนพบว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมความเชื่อ พิธีกรรม การดูฤกษ์ยาม เป็นคลังความรู้อนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำนาสมัยโบราณ สร้างมูลค่า และมีเรื่องราว
“นริศ เจียมอุย” (ลุงจี๊ด) ประธานผู้ก่อตั้ง นาบุญข้าวหอม กล่าวว่ากลุ่มของเราเกิดขึ้นมาโดยมีเจตนาที่จะอนุรักษ์การทำนาในจังหวัดเพชรบุรี โดยสืบเนื่องมาจากประเพณีแรกนาขวัญในวันพืชมงคลโดยนอกจากจะเป็นการเริ่มต้นของฤดูการทำนาแล้ว ยังมีการสอดแทรกกุศโลบายในเรื่องต่างๆของการทำนาในบริบทต่างๆ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิดองค์ความรู้ในการทำนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ลุงจี๊ด ยังกล่าวถึงความละเมียดละไมในการทำนาว่าจะทำให้ผลผลิตที่ออกมาเป็นข้าวที่มีคุณภาพ เพราะสิ่งแวดล้อมที่ดีก็จะทำให้ผลผลิตดีไปด้วย หากชาวนาไม่ใช้สารเคมี ทุกวันนี้เราได้ข้าวเปลือก 150 กิโลกรัม สีเป็นข้าวสารจะได้ประมาณ 75 กิโล เฉลี่ยกิโลกรัมละ 52 บาท ถือว่าถูกมาก ปีนี้มีคนจองไป 30 แปลง ปีหน้าคาดว่า 50 แปลง มีโครงการขยายเครือข่ายชาวนาให้ช่วยกันปลูก
“ผมเลือกใช้ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมดอกมะขาม ข้าวไรซ์เบอรี่ หลักๆ จะเป็นหอมมะลิแดง กับ ข้าวหอมดอกมะขาม เพราะจะมีสารกาบา(GABA-Gamma aminobutyric acid คือสารสื่อประสาทที่ช่วยส่งข้อความสื่อสารระหว่างสมองและระบบประสาท) มากที่สุด สารกาบาจะได้มากก็ต่อเมื่อนำไปทำเป็นข้าวฮาง ข้าวงอก ขั้นตอนจะยากมาก แต่ในข้าวดอกมะขามมีสารกาบาสูงมาก ไม่ต้องทำอะไรเลย แถมยังเป็นข้าวน้ำตาลต่ำอีก ก็เลยยิ่งดีไปใหญ่ ข้าวหอมมะลิแดงก็มีดัชนีน้ำตาลต่ำอีก
แถมยังมีวิตามิน A วิตามิน B ทองแดง ธาตุเหล็ก บำรุงเลือด มีโปรตีน 12.5 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ามากที่สุดในบรรดาข้าวที่เราค้นคว้ามา” นายนริศ กล่าว
ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ
ตลาดนัดครูจันทร์เพ็ญ ณ บริเวณข้างวัดเขียนลาย หมู่ 4 ต บ้านแพรก อ บ้านแพรก จ พระนครศรีอยุธยาได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2545 โดย ร.ต.โสภณ สาสกุล ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ค่าแผงถูก ไม่หวังกำไร ให้ชาวบ้านมีที่ทำมาหากิน” กว่า 20 ปีที่ตลาดแห่งนี้ได้สร้างรายได้ให้เหล่าพ่อค้าแม่ขาย สร้างความสุขและรอยยิ้มให้ลูกค้าที่มาจับจ่ายใช้สอย เน้นสินค้าการเกษตรในชุมชนช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก ส่วนผลประโยชน์ที่เห็นคือ กล้วยสองพันกว่าต้นรอบ ๆ ตลาด ซึ่งไม่ได้นำไปขาย แต่นำไปแจกจ่ายตามสถานพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยที่มารอได้อิ่มท้อง