กรมชลประทาน เผยผลการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำ ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง จังหวัดอุดรธานี ชู 4 โครงการสำคัญแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ เพื่อดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2561 ในการประชุมร่วม กรอ. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 มีข้อสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ศึกษาความเหมาะสม การพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง และจัดทำแผนหลัก (Master Plan) เพื่อให้ได้โครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนเป็นลำดับต้น ๆ ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และบรรเทาอุทกภัย สำหรับนำไปศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ครอบคลุมตามมาตรการกลยุทธ์ต่าง ๆ ทั้ง 6 ด้าน ที่ขับเคลื่อนโดยหลายหน่วยงาน เพื่อสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตน้ำอุปโภคบริโภค ลดความเสียหายจากอุทกภัย สามารถจัดการคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน มีการบริหารจัดการพื้นที่ต้นน้ำ ดินป่าไม้ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งมิติ วิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
จากการศึกษาได้รวบรวมแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการคัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญในระดับต้น ๆ อย่างน้อยจำนวน 4 โครงการ ได้แก่
1.โครงการฝายบ้านกุดหมากไฟ ตั้งอยู่บริเวณบ้านกุดหมากไฟ ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่รับน้ำฝน 104.13 ตร.กม. มีปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 22.99 ล้าน ลบ.ม. เป็นอาคารประเภทฝายทดน้ำคอนกรีต สูง 2.50 ม. ยาว 20 ม. มีอัตราการไหลออกแบบฝาย 45.79 ลบ.ม./วินาที สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานด้วยระบบแรงโน้มถ่วง 8,399 ไร่
2.โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านขอนยูงน้อย ตั้งอยู่บริเวณบ้านขอนยูงน้อย ตำบลขอนยูง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่รับน้ำฝน 30.90 ตร.กม. ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 9.96 ล้าน ลบ.ม. เป็นเขื่อนดินแบบแบ่งส่วน สูง7.00 ม. สันเขื่อนยาว 884 ม. พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 1,205.20 ไร่ ความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 4.38 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานด้วยระบบแรงโน้มถ่วง 6,789 ไร่ รวมทั้งผันน้ำส่วนเกินโดยปล่อยลงหน้าประตูระบายน้ำห้วยเชียง 2 และผันต่อผ่านคลองส่งน้ำโครงการประตูระบายน้ำห้วยเชียง 2 ปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนห้วยหลวงได้ปีละ 2.06 ล้าน ลบ.ม.
3.โครงการประตูระบายน้ำห้วยเชียง 2 ตั้งอยู่บริเวณบ้านดงธาตุ ตำบลกุดจับ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่รับน้ำฝน 21.83 ตร.กม. มีน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 20.47 ล้าน ลบ.ม. เป็นอาคารประเภทประตูระบายน้ำแบบบานตรง กว้าง 6 ม. สูง 4.50 ม. จำนวน 2 ช่อง อัตราการไหลออกแบบ 37.63 ลบ.ม./วินาที สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานด้วยระบบแรงโน้มถ่วง 1,308 ไร่ รวมทั้งผันน้ำส่วนเกินผ่านคลองส่งน้ำปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนห้วยหลวงได้ประมาณปีละ 4.13 ล้าน ลบ.ม.
4. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลน้ำพ่น ศึกษาวางโครงการพื้นที่บริเวณบ้านหนองแซงสร้อย ตำบลน้ำพ่น อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นโครงการประเภทอ่างเก็บน้ำได้ แต่จากการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยยางล่างไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนห้วยหลวงในอดีต กรมชลประทานจึงได้ยุติการพัฒนาส่วนนี้ และประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้เสนอแนวทางในการพัฒนาจำนวน 3 แนวทาง คือ 1)ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองแซงสร้อย 1 บริเวณด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านหนองแซงสร้อย 2) ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองแซงสร้อย 2 บริเวณด้านทิศใต้ของหมู่บ้านหนองแซงสร้อย 3) การขุดลอกบริเวณเขื่อนห้วยหลวงเพื่อเพิ่มปริมาตรกักเก็บน้ำ โดยเสนอให้ขุดลอกตะกอนในอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงและก่อสร้างแนวคันดินให้เป็นถนนรอบอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง และข้อเสนอแนะจากการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลน้ำพ่น หากภายหลังประชาชนในพื้นที่มีความต้องการพัฒนาโครงการด้านแหล่งน้ำ สามารถดำเนินการพัฒนาเป็นโครงการประเภทประตูระบายน้ำได้ คือ แนวทางที่ 4 เสนอแนะเพิ่มเติม ประตูระบายน้ำห้วยยางล่าง โดยการพัฒนาอาคารหัวงานเป็นประตูระบายน้ำ บริเวณที่เคยเสนอเป็นที่ตั้งเขื่อนกักเก็บน้ำ โดยอาคารประเภทประตูระบายน้ำแบบบานตรงกว้าง 4 ม. สูง 3 ม. จำนวน 2 ช่อง
นอกจากนี้จังมีโครงการบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว ประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าวสร้างปิดกั้นลำน้ำห้วยหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลสามพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2533 เป็นประตูระบายน้ำบานตรง 5 บาน ความสูงบาน 3.80 ม. มีพื้นที่รับน้ำฝน 1,970.56 ตร.กม.ปริมาณน้ำท่ 61 ล้าน ลบ.ม./ปี ระดับเก็บกักปกติ +166.36 ม.รก. ความจุเก็บกัก 1.88 ล้าน ลบ.ม. อัตราการระบายน้ำ สูงสุด ช่องละ 22.80 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งหมด 114 ลบ.ม/วินาที
ด้านนายสมพร ธุระพระ กำนันต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ ได้กล่าวขอบคุณกรมชลประทานที่ได้เข้ามาช่วยเหลือในการจัดสรรน้ำในพื้นที่แห่งนี้ พร้อมกล่าวว่าตนเองเป็นกรรมการร่วมจัดสรรน้ำที่นี่มา 18ปี ในการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการจัดสรรน้ำในครั้งนี้ ทางต.เชียงเพ็งซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายเขื่อนต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาพื้นที่เราค่อนข้างแห้งแล้งประชาชนมีความลำบากมาก เพราะการจัดสรรน้ำไม่ทั่วถึง ตนเองเชื่อว่าโครงการนี้จะส่งผลกับพื้นที่นี้โดยตรง โดยเฉพาะในด้านการเกษตร การอุปโภคบริโภคต่างๆดีขึ้น และอยากจะให้กรมชลประทานช่วยเหลือในการขุดลอกคลองชลประทาน ซึ่งปัจจุบันมีความตื้นเขินเป็นอย่างมากทำให้การลำเลียงน้ำเป็นไปได้ช้าจึงอยากฝากไว้ให้พิจารณาด้วย
ด้านนายทวี จันนาวัน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและถั่วลิสง อ. กุดจับ เปิดเผยว่าหลังจากได้ฟังสรุปการปัจฉิมนิเทศในครั้งนี้ทำให้ตนเองรู้สึกมีความหวังในการทำการเกษตรในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าหากปราศจากการจัดสรรน้ำที่ดีแล้วประชาชนทำการเกษตรไม่ได้ก็ต้องไปขายแรงงาน แต่เมื่อเรามีการจัดสรรน้ำที่ดีคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นไปด้วย ไม่ต้องออกไปหากินต่างถิ่นอย่างที่ผ่านมา