กรมชลประทาน กางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง ครอบคลุม 3 จังหวัดภาคอีสานตอนบน พร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน หวังตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรและประชุมปัจฉิมนิเทศ “โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย” เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน สำหรับนำไปปรับปรุงและเพิ่มเติมในการศึกษาฯ ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ต่อไป โดยมี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดการประชุม ณ ห้องแกรนด์เบญจวรรณ โรงแรมหนองคายธาวิลล่า อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย จากนั้นได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่การก่อสร้างบริเวณประตูระบายน้ำห้วยเวียงคุก อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย และประตูระบายน้ำบ้านโนนวารี อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย หวังเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำและการระบายน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง เนื่องจากตอนบนของลุ่มน้ำมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร ขณะที่พื้นที่ตอนกลางถึงตอนปลายของลุ่มน้ำ มักประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรอยู่เป็นประจำ โดยได้จัดทำแผนปฏิบัติการเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วยโครงการของแผนงานระดับลุ่มน้ำ ระดับโครงการ และระดับท้องถิ่น ใน 2 ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ คือ แผนการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ และแผนบรรเทาอุทกภัย รวม 297 โครงการ จากนั้นได้คัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญลำดับสูงเพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 โครงการ คือ
1.โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย ประกอบด้วย การปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น การขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ การก่อสร้างท่อส่งน้ำ และการปรับปรุงคลองส่งน้ำฝายห้วยทอนตอนล่าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) ได้ประมาณ 3.65 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้มากขึ้น 1,572 ไร่
2.โครงการปรับปรุงลำน้ำห้วยโมง พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลอง 2 แห่ง ประกอบด้วย การปรับปรุงลำน้ำห้วยโมง 11 ช่วง ความยาว 39.75 กิโลเมตร การก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านโนนวารี และประตูระบายน้ำบ้านนาข่า ซึ่งจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ได้ประมาณ 3,864 ไร่ อีกทั้งยังช่วยส่งน้ำพื้นที่ชลประทานได้อีก 8,500 ไร่
3.โครงการผันน้ำห้วยลาน-ห้วยคุก ประกอบด้วย การก่อสร้างคลองผันน้ำห้วยลาน-ห้วยคุก ความยาว 22.50 กิโลเมตร การก่อสร้างประตูระบายน้ำปากคลองผันน้ำ การก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลองผันน้ำ การก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านเวียงคุก การก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยลาน และการขุดลอกคลองห้วยลาน (บริเวณประตูระบายน้ำปากคลองผันน้ำ) โดยจะช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณ 21,463 ไร่ และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ในคลองผันน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้อีก 1.75 ล้าน ลบ.ม.
“การพัฒนาลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี และหนองคาย ได้มีแหล่งเก็บกักน้ำที่เพิ่มมากขึ้น สามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะภาคเกษตร รวมไปถึงการปรับปรุงระบบการกระจายน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดปัญหาอุทกภัยในช่วงน้ำหลากได้อีกด้วย ปัจจุบันการศึกษาความเหมาะสม ได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการสำรวจและออกแบบเบื้องต้น คาดว่าจะสามารถดำเนินโครงการฯ ได้ในปี 2568” รองอธิบดีฯ กล่าว
นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ต้องขอบคุณกรมชลประทานที่เข้ามาดูแลด้านการบริหารจัดการต้นน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง ถึงกินพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่งต้องประสบทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในแต่ละฤดูกาล และเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยแก้ไขด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนปลายแม่น้ำมูลมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ปัจจุบันเราจะใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำมูลอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่เราเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำได้ดียิ่งขึ้น ก็ยอมรับว่าประชาชนในภูมิภาคนี้ประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก การบริหารจัดการแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลนำมาใช้ร่วมกันจึงถือเป็นประโยชน์อย่างสูงสุด แล้วพี่น้องในภูมิภาคนี้จะตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำอยู่แล้ว แต่ก็อยากสักย้ำว่า..น้ำคือชีวิตเพราะฉะนั้นการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในครั้งนี้เรารู้สึกภูมิใจมากที่กรมชลประทานเปิดโอกาสให้เราได้นำเสนอแนวความคิดจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน ให้ผู้ใช้น้ำจริงได้ออกความคิดเห็นจากประสบการณ์จริง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวคิดนี้ไปแก้ไขอย่างตรงจุดและเกิดประโยชน์อันสูงสุด