นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ประเทศจีนถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งสำหรับสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยเฉพาะผลไม้ไทยได้รับอนุญาตให้สามารถส่งออกไปยังจีนได้มากกว่าประเทศอื่นๆ โดยมีจำนวนถึง 22 ชนิด และอยู่ระหว่างการขอเปิดตลาดเพิ่มเติมอีก 3 ชนิด (สละ อินทผลัม เสาวรส) ซึ่งสินค้าทุเรียนยังคงเป็นแชมป์ในการส่งออกของไทย โดยเกือบ 90% ของทุเรียนไทยถูกส่งออกไปยังตลาดจีน ซึ่งในปีที่ผ่านมาคิดเป็นมูลค่ากว่า 98,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการควบคุมมาตรฐานการผลิตตั้งแต่ต้นทาง มีการควบคุมตลอดกระบวนการ ไปจนถึงการวางจำหน่ายในตลาดจีนก่อนถึงผู้บริโภค สินค้าต้องมีความปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้และเป็นไปตามข้อกำหนดการนำเข้าของจีน ซึ่งมีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น ไทยจึงต้องมีการกำกับดูแลให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ เช่น ต้องมีมาตรฐาน GAP/GMP มีการขึ้นทะเบียนรายชื่อสวนและโรงคัดบรรจุบนเว็บไชต์ของหน่วยงานจีน ต้องปลอดจากโรค แมลงศัตรูพืช ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช และสินค้าต้องไม่มีการปลอมปน ซึ่งหากพบว่าไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสินค้าจะโดนตีกลับและอาจนำมาสู่ การยกระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบ และอาจถูกแบนในที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะสามารถกลับมาส่งออกได้อีกครั้ง นอกจากนี้ สินค้าเกษตรของไทยยังมีคู่แข่งจำนวนมากเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทผลไม้ ซึ่งกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีการผลักดันในการเปิดตลาดไปยังจีนมากขึ้น เช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่สามารถเปิดตลาดทุเรียนสดไปยังจีนได้แล้ว ส่วนกัมพูชาได้รับอนุญาตในการส่งออกลำไยไปจีนได้ และอยู่ระหว่างการขอเปิดตลาดทุเรียนในอนาคตเช่นกัน
ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพมาตรฐานและรักษาชื่อเสียงของผลไม้ไทยในตลาดจีนไว้ ไทยจึงต้อง ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพ โดยเฉพาะการปราบปรามทุเรียนด้อยคุณภาพและป้องกันการสวมสิทธิ์ผลไม้ไทย โดย มกอช. อยู่ระหว่างการผลักดันหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนของโรงรวบรวมและ โรงคัดบรรจุ เพื่อให้เป็นมาตรฐานบังคับ ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร 2551 ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบ ของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแล้ว โดยจะประกาศใช้ในเดือนมีนาคม 2566 และมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2566 เป็นต้นไป
“มาตรฐานฉบับดังกล่าว จะเป็นการกำหนดให้ล้งต้องรับซื้อทุเรียนที่ได้มาตรฐานเท่านั้น เพื่อให้ได้ ผลทุเรียนที่มีคุณภาพ มีความสุกของผลตามข้อกำหนด ป้องกันการตัดทุเรียนอ่อนสำหรับสินค้าทั้งการนำเข้า การส่งออกและการจำหน่าย ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่จะนำมาใช้ในการควบคุมและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงจะสามารถช่วยขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพของทุเรียนไทย เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้น” เลขาธิการ มกอช.กล่าว