สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี นำโดย นายธนวัฒน์ สาระสิน นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี จัดกิจกรรมสัมมนาและศึกษาดูงาน “เสริมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการแบบกลุ่มผลิตพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพในสถานที่จริง” ระหว่างวันที่ 17 – 19 ธันวาคม 2565 ณ จังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการแบบกลุ่มผลิตพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพในสถานที่จริงจากแหล่งเรียนรู้ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมของตนเองได้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกร 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรทั่วไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 80 ราย
นางณหทัย ศรีภูมินทร์ วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายแพทย์แผนไทยล้านนาอายุรเวท ตำบลทุ่งศรี อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เราได้เริ่มต้นมาจากคัมภีร์ใบลานล้านนา ซึ่งเป็นคัมภีร์อายุรเวช โดยนำข้อมูลจากคัมภีร์โบราณเข้าสู่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังเชื่อไปด้วยกลิ่นอายของแพทย์แผนไทยล้านนาซึ่งถือเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของที่นี่ งานของเราเป็นงานนวัตกรรมสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง หรืออาหารตามแบบฉบับเวชศาสตร์ล้านนา ซึ่งได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมจากหลายสถาบันด้วยกัน เพราะงานนวัตกรรมของเราถือเป็นงานนวัตกรรมด้านสมุนไพรที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าของสมุนไพรที่อยู่ในท้องถิ่น ซึ่งสมาชิกของเราจะเป็นเกษตรกรที่ปลูกสมุนไพรแบบอินทรีย์ โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายเข้าสู่ภาครัฐ ณ ปัจจุบันผลิตผ่านชุมชนของเราได้เผยแพร่ไปสู่ต่างประเทศพร้อมทั้งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
นายประพันธ์ บุญตัน รองนายก ต.น้ำเกี๋ยน อดีตประธานแปลงเป็นใหญ่ กล่าวว่าชุมชนในตำบลน้ำเกี๋ยนโดยมากเป็นเกษตรกรอยู่แล้วซึ่งก่อนนี้ เราจะปลูกข้าวโพด และยางพารา ต่อมาจึงหันมาปลูกพืชสมุนไพรเป็นรายได้เสริม เพราะเล็งเห็นว่าน่าจะมีรายได้ที่ดีกว่า ซึ่งส่วนมากจะเป็นคนสูงอายุ ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยแล้ว 3,000-4,000 บาทต่อคนจนกระทั่งประสบกับปัญหาโควิดระบาด ทำให้เรารวมตัวกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน โดยได้ทำการซาวด์เสียงจากประชาชนในพื้นที่เพื่อดูถึงความต้องการของเกษตรกร และเชื่อมโยงกับเครือข่ายโดยรอบโดยเฉพาะเครือข่ายชีววิถีซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า ทำให้งานเกษตรเดินไปในทิศทางเดียวกัน
ภายหลังเราได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในการส่งเสริมเกษตรกรแปลงใหญ่ ทำให้เราเริ่มเข้าสู่การทำผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยเริ่มจากการอบแห้ง ทำให้เก็บผลผลิตได้นานและสะดวกกับการขนส่ง กระทั่งเราได้เริ่มทำโรงงานผลิตปุ๋ย รวมถึงอาคารที่ได้มาตรฐานในการเก็บผลผลิตแปรรูป และที่สำคัญที่สุดคืออาคารจัดแสดงสินค้าเพื่อนำเสนอสินค้าของกลุ่มชุมชนของเราเอง และนอกจากผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรแล้วเรายังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆอย่างเช่นผ้ามัดย้อม และเชื่อว่าในอนาคตเราจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งให้ความรู้ด้านเกษตรกรรมอย่างครบวงจรต่อไป