สสส. รวมพลังคนสารคามฯ ต้นแบบการจัดการสุขภาวะชุมชนเขตพื้นที่เมือง ขับเคลื่อนสู่เมืองอัจฉริยะ Smart City พร้อมลงนามร่วมมือ เสริมศักยภาพผู้นำ-เข้าถึงข้อมูล-พัฒนานวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยเสริมสุขภาพ ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต 9 ประเด็น เด็ก ผู้สูงอายุ ป้องกันความรุนแรง อาหารสุขภาวะ เศรษฐกิจชุมชน
เมื่อวันที่ 16 พฤจิกายน 2565 ที่สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ อ.เมือง จ.มหาสารคาม ในงาน “คนเมืองมหาสารคามประกาศปฏิญญาขับเคลื่อนสู่เมืองอัจฉริยะ” มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองมหาสารคาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 5 แห่ง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการสร้างสุขภาวะเพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนเทศบาลเมืองมหาสารคาม โดยมี นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมด้วยนายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางเสาวนีย์ กุลสมบูรณ์ กรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชนพื้นที่ภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้มีผู้นำชุมชน/กรรมการชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) โรงเรียนและสถานศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่ สมาคมและชมรมในพื้นที่ และประชาชนที่สนใจเข้าร่วม
นายเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า การกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนเมือง การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงการทำงานร่วมกันระหว่างเทศบาลเมืองมหาสารคาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย จำนวน 5 แห่ง และ สสส. ถือเป็นการพัฒนาการบริหารจัดการที่ดีของหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้กลไกการร่วมมือของสถาบันวิชาการ ผู้นำชุมชนกลุ่มองค์กรทางสังคม และภาคธุรกิจและเครือข่าย ช่วยเสริมสร้างการทำงานที่ดีให้คณะทำงาน พัฒนาระบบข้อมูลร่วมกัน จนเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยวและการกีฬา พัฒนาเมืองและโครงสร้าง พื้นฐาน การศึกษา การบริหารงานองค์กร พัฒนาชีวิตและความปลอดภัย ความเข้มแข็งของชุมชน อันนำไปสู่มหาสารคามเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัล หรือข้อมูลสารสนเทศเพิ่มประสิทธิและคุณภาพของบริการชุมชน ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สานัก 3) สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น การลงนามความร่วมมือฯ ครั้งนี้ มีเป้าหมายเสริมประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะและจะยกระดับการพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชนอยู่ดี กินดี และมีสุข พร้อมทั้งมีความความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสามารถปรับตัวตามสภาวะการที่เกิดขึ้น ให้เป็นเมืองที่มีความน่าอยู่ น่าอาศัย น่าลงทุน และนำสมัยมุ่งสู่การเป็นเมือง Smart City ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาสู่การเป็น “เมืองน่าอยู่” โดยร่วมกับเทศบาลเมืองมหาสารคาม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายฯ ดำเนินการ 1. สร้างการเรียนรู้ให้กับ ผู้บริหารท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำชุมชน และผู้นำของหน่วยงานในพื้นที่ ให้มีขีดความสามารถในการจัดการสุขภาวะชุมชน 2. พัฒนาระบบข้อมูล เพื่อใช้ในการวางแผนการพัฒนาและปรับระบบบริการให้สามารถเข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น 3.พัฒนานวัตกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยส่งเสริมสุขภาพ ด้วยการกำหนดนโยบายสาธารณะและนวัตกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ
นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม อำเภอเมือง จ.มหาสารคาม กล่าวว่า เทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้จัดทำโครงการสร้างสุขภาวะ เพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจากสสส. โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อยกระดับเทศบาลเมืองมหาสารคาม เป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการสุขภาวะชุมชนเขตเมือง พัฒนาให้เป็นชุมชนท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการรู้รับ ปรับตัว ขับเคลื่อนงาน 9 ประเด็น คือ 1.ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพิ่มพื้นที่ในการออกกำลังกายในชุมชน 2.ป้องกันความรุนแรงในครอบครัว จัดตั้งให้มีกลุ่มเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว ในโรงเรียน และจัดตั้งพัฒนาศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน(ศพค.) 3.การจัดการอาหารในชุมชน เพิ่มพื้นที่สาธารณะในชุมชนสร้างอาหารปลอดสารพิษ 4.พัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัย จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 ศูนย์ และมีนวัตกรรมการจัดระบบการดูแลเด็กใน ศพด. ของเด็กอายุ 0- 3 ปี 5.จัดการขยะมูลฝอย สร้างเครือข่ายในชุมชน เกิดชุมชนตันแบบ Zero Waste 6.สร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุ มีแอปพลิเคชันติดตามการดูและผู้สูงอายุในพื้นที่ 7.พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตั้งศูนย์อบรมอาชีพ ศูนย์จำหน่ายสินค้า และหลักสูตรอบรมทักษะอาชีพต้นแบบ 8.การจัดการภัยพิบัติ พัฒนาทักษะ และศูนย์ประสานงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และช่วยเหลือในชุมชน จัดตั้งกลุ่มอาสาสมัคร (อาสาเคลื่อนที่เร็ว) 9.สร้างชุมชนปลอดบุหรี่และลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างชุมชนปลอดภัย และสร้างต้นแบบและบุคคลต้นแบบ
สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย 5 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลโกสุมพิสัย เทศบาลตำบลบรบือ องค์การบริหารส่วนตำบลเขวา องค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเลิงจาน และองค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้ง