รวมพลเด็กเนิร์ดสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหาร
ในงาน Food Innovation Thailand 2019
หากใครติดภาพเด็กเรียนสายวิทย์ ใส่แว่นตา แล้วให้นิยามว่า “เด็กเนิร์ด” ที่วันๆ เอาแต่นั่งคิดคำณวนตัวเลขทางคณิตศาสตร์อยู่ล่ะก็ขอให้คิดใหม่ เพราะในงาน Food Innovation Thailand 2019 (FIT 2019) ซึ่ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เมืองนวัตกรรมอาหาร ( Food Innopolis) โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ ซึ่งไฮไลท์ในงานมีการแสดงผลงานนวัตกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นผลงานนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่ได้คิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมอาหารต้นแบบ ร่วมส่งเข้าประกวดในกิจกรรม Food Innopolis Innovation Contest 2018/2019 เพื่อชิงเงินรางวัลเป็นทุนสร้างธุรกิจด้านนวัตกรรมอาหาร ที่จะทำให้เห็นว่าเด็กเนิร์ด เด็กวิทย์ ก็สร้างสรรค์เมนูเด็ดๆ เพื่อผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม โดยงานจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิล์ด
ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า เมืองนวัตกรรมอาหารหรือ Food Innopolis เป็นโครงการของรัฐบาลภายใต้การบริหารจัด การโดย สวทช.-กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งหวังที่จะสร้างพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการ อาหารในอุตสาหกรรมนวัตกรรมอาหาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และนำพา ประเทศไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็น อุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของประเทศ ดังนั้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการนวัตกรรมและแรงจูงในคิดค้นพัฒนา นวัตกรรมอาหารขึ้น FI Accelerator แพลตฟอร์มภายใต้ Food Innoopolis จึงได้จัดกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมอาหาร ซึ่งเปิดรับผลงานทั้งในระดับนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เพื่อชิงเงินรางวัลที่จะเป็นทุนเริ่มต้นในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมอาหาร
โครงการประกวดนวัตกรรมอาหาร Food Innopolis Innovation Contest 2018/2019 ได้รับความสนใจจากนักศึกษาและบุคคลทั่วไปร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 100 ผลงาน โดยแบ่งโจทย์การประกวดออกเป็น 2 หัวข้อ คือ Better Foods และ Food of Aging และแบ่งประเภทการแข่งขันได้แก่รุ่น Light Weight คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งมีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้าย 16 ทีม และรุ่น Heavy Weight คือระดับนักศึกษาปริญญาโท-เอก ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไป อีก 8 ทีม ซึ่งทีมที่ผ่านเข้ารอบนี้ ฟู้ดอินโนโพลิส ได้จัดทำเวิร์คช้อปและให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้นในเรื่องแนวคิด นวัตกรรมและธุรกิจ ก่อนจะนำไปผลิตผลิตภัณฑ์จริงเพื่อให้คณะกรรมการและผู้เข้าชมงานได้ชิมและได้ร่วมโหวตว่าเมนูใดจะได้ครองรางวัลชนะเลิศ ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 400,000 บาท พร้อมเยี่ยมชมดูงาน TUTTOFOOD ประเทศอิตาลี เพื่อสร้างธุรกิจให้เป็นจริงต่อไป
สำหรับผลการประกาศรางวัลชนะเลิศ รุ่น Light Weight รางวัลชนะเลิศ Grand Prize รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมทริปไปดูงาน TUTTOFOOD ที่ประเทศอิตาลี ได้แก่ ทีม Linea จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอนวัตกรรมอาหารภายใต้แนวคิด Food for Aging ชื่อ White Line เป็นผลิตภัณฑ์เส้นไข่ขาว100% ให้โปรตีนสูง มีอัลบูมินเเละกรดอะมิโนที่จำเป็น เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการปริมาณโปรตีน ที่เพียงพอในเเต่ละวัน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เพิ่มความหลากหลายให้แก่การรับประทาน แก่ผู้สูงวัย สำหรับรางวัลที่ 1 ภายใต้แนวคิด Better Food รับเงินรางวัล 50,000 บาท เป็นผลงานของทีม Emerald Pearl จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม นำเสนอผลิตภัณฑ์ “ไข่มุกมรกตจากผำ” ผำ หรือ ไข่น้ำ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีวิตามิน A แคลเซียม มีโปรตีนสูง และใยอาหาร แต่ให้พลังงานต่ำกว่าไข่มุกทั่วไปประมาณ 40% และรางวัลชนะเลิศ ในระดับนักศึกษาปริญญาโท-เอก รับเงินรางวัล 50,000 บาท เป็นผลงานของทีม Better Food, Boost Quality of Life จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานชื่อ Happetite เป็นเครื่องดื่มทางเลือก เพื่อการกระตุ้นความอยากอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผสานคุณค่าของ ผักผลไม้ สมุนไพรไทย และ superfood เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ได้ดื่ม
และนอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรังสิต ยังคว้า รางวัล popular vote ในหมวด Better food เป็นผลิตภัณฑ์ สาโทแดงที่ผลิตจากข้าวเจ้า ด้วยการผนวกกระบวนการMalting และกระบวนการหมักด้วย Monascus purpureus ได้สาโทสีแดงสด ที่พัฒนาคุณภาพด้านสี กลิ่น และรสชาติแตกต่างจากสาโทพื้นบ้าน
วันนี้เรามีตัวอย่างผลงานนวัตกรรมอาหารที่ส่งเข้าประกวดที่น่าสนใจมาแนะนำ เริ่มจากรุ่น Light Weight หรือระดับนักศึกษาปริญญาตรี ผลงานแรกได้แก่ “เครื่องดื่มโปรตีนสกัดจากจิ้งหรีดรสส้ม ตรา CRICGS SHOT” ผลงานของทีม Marinar มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา นำโดย นางสาวอธิตินาพร บุญชัย เล่าว่า “แนวคิดของเครื่องดื่มเมนูนี้ที่สำคัญคือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับจิ้งหรีด ในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิมที่ผู้บริโภคเคยรับประทาน เช่น จิ้งหรีดทอด จิ้งหรีดอบกรอบ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าจิ้งหรีดมีโปรตีนและธาตุเหล็กสูง เมื่อเทียบเทียบกับเนื้อสัตว์หรือผัก ผลไม้ชนิดอื่นๆ โดยมองถึงการนำไปทำเครื่องดื่มโปรตีนสูงซึ่งยังไม่มีในท้องตลาด จึงได้คิดค้นกรรมวิธีการผลิต ด้วยการนำจิ้งหรีดโตเต็มวัยไปปั่น ใช้เอมไซน์ไปตัดโปรตีนที่ได้เพื่อให้เป็นโปรตีนสายสั้น ง่ายต่อการย่อย และเซลล์ในร่างกายดูดซึมนำไปใช้ได้ทันที เพื่อดับกลิ่นที่ค่อนข้างแรงและรสขม จึงนำไปผ่านกระบวนการดึงกลิ่นและปรับรสขม ด้วยการเติมรสส้มเข้าไปทำให้มีความกลมกล่อมมากขึ้น โดยเครื่องดื่มโปรตีนสกัดจากจิ้งหรีดรสส้มนี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้รักสุขภาพ ผู้ที่ออกกำลังกาย ต้องการสร้างกล้ามเนื้อ คุมน้ำหนัก”
“CURRICIES” (เคอร์ไรซีส์) หรือข้าวไรซ์เบอร์รี่แกงเขียวหวานพร้อมรับประทานที่มีหน้าตาคล้ายกับพุดดิ้ง ผลงานของทีม Two out of Five นักศึกษาภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้สร้างสรรค์เมนูนี้ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการบดเคี้ยวอาหารและการกลืน สามารถที่จะเจริญอาหารกับเมนูโปรดของผู้สูงอายุอย่างแกงเคี้ยวหวานได้ นายกษิดิษ รัตนเรือง เป็นตัวแทนเทีมเล่าว่า “แกงเขียวหวานโดยปกติจะต้องใช้กะทิ แต่ผลิตภัณฑ์เมนูนี้คิดค้นเพื่อผู้สูงอายุ จึงได้ลดปริมาณการใช้กะทิเพียง 2% และใช้ไข่ขาวเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม และใช้เจลลี่ทนความร้อนผสมบุกและผงมะเขือพวง ในการทำส่วนของแกงเขียวหวาน ราดบนข้าวไรซ์เบอร์รี่หุงสุกในบรรจุภัณฑ์ ผ่านกรรมวิธีเก็บรักษาคุณค่าทางโภชนาการ วางจำหน่ายในรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน เมื่อต้องการนำมารับประทานก็สามารถอุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟได้ เมื่อผู้สูงวัยรับทานจะทำให้เคี้ยวง่าย มีความนิ่มให้เนื้อสัมผัสเหมือนกับพุดดิ้ง รสชาติไม่เผ็ดมากจนเกินไป เป็นเมนูสุขภาพที่จะทำให้ผู้สูงวัยสามารถรับประทานแกงเขียวหวานเมนูโปรดได้อย่างสบายใจ ไร้กังวลจากไขมัน คอเลสเตอรอลได้”
อยากกินไอศกรีมแต่กลัวอ้วน เชื่อว่าคุณสาวๆ หลายคนก็เป็น แต่ปัญหานี้จะหมดไปเมื่อได้รู้จักกับทีม Fitness Food จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้คิดค้นเมนู “ไอศกรีมอกไก่” มาให้สายหวานแต่ไม่อยากอ้วนได้กินกันอย่างเต็มที่ โดย นางสาวอภิญญา สุววิจิตร เป็นตัวแทนเพื่อนๆ ในทีมเล่าถึงแนวคิดของไอศกรีมอกไก่ให้ฟังว่า “เมนูนี้คิดค้นเพื่อเป็นทางเลือกให้สำหรับผู้ที่ทานเวย์โปรตีน หรืออกไก่ปั่น เป็นประจำได้ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงความจำเจ รวมถึงผู้ที่ชอบทานไอศกรีมแต่กลัวอ้วน ด้วยการใช้เนื้ออกไก่ไปปั่นด้วยกรรมวิธีพิเศษเพื่อให้ได้เนื้อเนียนละเอียด ผสมด้วยอะโวคาโดซึ่งให้ไขมันดีที่จำเป็นกับร่างกาย กล้วยหอมเพิ่มเสริมสร้างโปรแตสเซียม และใช้น้ำผึ้งในการให้ความหวาน นำไปปั่นเป็นไอศกรีม โดยไอศกรีมอกไก่ 90 กรัม จะให้โปรตีน 20% แต่แคลลอรี่ต่ำเพียง 150 แคลลอรี่เท่านั้น เชื่อว่าเมนูนี้น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มเป้าหมาย”
อีกหนึ่งเมนูสำหรับผู้สูงวัยที่ชอบทานบิสกิส เพราะน้องๆ นักศึกษาจากสาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ และ ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามทีม “All In” ได้บูรณาการความรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์บิสกิสแผ่นบาง “PROrichious” ส่งเข้าประกวด โดย นางสาวอซิมี กุลดิเรก เผยว่า “โปรริเชียส ขนมบิสกิสแผ่นบางนี้ เป็นนวัตกรรมการปรับเนื้อสัมผัสอาหารให้ละลายได้ในปาก เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะเคี้ยวและกลืนลำบาก โดยมีหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ High Protein โดยมีโปรตีน 8 กรัม ซึ่งโปรตีนมีส่วนช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย High Energy ให้พลังงาน 170 กิโลแคลอรี เพียงพอต่อความต้องการร่างกาย และสุดท้าย Hyper Melt การที่บิสกิสมีแผ่นบางสามารถละลายในปากอย่างง่ายดาย จึงปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงผู้มีภาวะเคี้ยวหรือกลืนลำบาก ให้สามารถทานบิสกิสได้อย่างเพลิดเพลินมากขึ้น อีกทั้งยังได้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอีกด้วย”
ผลงานสุดท้ายนวัตกรรม Better Bubble ของทีม Inno Bub นำโดย นายเอกภพ อรุณมาศ คณะอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน บอกว่านวัตกรรมอาหารตัวนี้เป็นการต่อยอดจาก “แป้งกล้วยหอมทอง” ในการนำมาผลิตเป็นเม็ดบับเบิ้ลในชานมไข่มุก เครื่องดื่มยอดฮิตของวัยรุ่นในขณะนี้ ทดแทนการใช้แป้งมันสำปะหลัง ด้วยคุณค่าทางโภชนาการของกล้วยทองที่มีไยอาหารสูง อยู่ท้อง และยังเป็นแหล่งอาหารที่ดีของจุลินทรีย์ในลำไส้ของเรา อีกทั้งการใช้แป้งกล้วยหอมทองผลิตเป็นเม็ดชานมไข่มุกนั้น ยังมีแคลลอรี่ต่ำกว่าเม็ดชานมไข่มุกในท้องตลาดที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังต้องแป้งมันสำปะหลังเป็นตัวเคลือบผิวเพื่อช่วยกักเก็บสารอาหารของแป้งกล้วยทองอยู่ดี และยังคงเนื้อสัมผัสที่นุ่ม หนุบหนับตามแบบฉบับของชานมไข่มุกไว้นั่นเอง”
นอกจากนี้ภายในงาน Food Innovation Thailand 2019 (FIT 2019) ยังมีส่วนนิทรรศการ การออกร้านของผู้ประกอบการนวัตกรรมอาหารในโครงการเร่งรัดพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ไทย นำผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่ได้จากการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่และได้ผลิตออกจำหน่ายสู่ตลาดมาให้ผู้เข้าชมงานได้ชิม ช้อปมากมาย
ร่วมค้นหาแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมอาหารเพิ่มเติมได้ที่ www.foodinnopoliscontest2019.com