Train to LAUNG PRABANG…ไปเบิ่งหลวงพระบางโฉมใหม่ ไฉไลด้วยรถไฟความเร็ว(เกือบ)สูง
หลังโควิดซา คงไม่มีอะไรที่จะอินเทรนด์ไปมากกว่าการได้ไปนั่งรถไฟความเร็ว (เกือบ) สูงลาว-จีน ปู้น ปู้น ปู้น ไปเบิ่ง ไปทำตัวชิคชิคที่หลวงพระบางอีกแล้ว
ทริป Train to LAUNG PRABANG ครั้งนี้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีหนุ่มใหญ่ สปอร์ต ก.ท.ม. ที่มีชื่อว่าไลออน โสภณ สาสกุล เกิดไอเดีย อยากไปสำรวจ และอัปเดตหลวงพระบางเมืองมรดกโลก หลังจากจากที่ สปป.ลาวได้เปิดประเทศ พร้อมตัดริบบิ้น ปล่อยรถไฟลาว-จีน ไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 จนเกิดกระแสปังปุริเย่ เกิดปรากฏการณ์ใคร ๆ ก็ไปหลวงพระบาง แล้วหลวงพระบางโฉมใหม่หลังจากมีรถไฟความเร็ว(เกือบ)สูง จะเป็นเช่นไร
มาทำความรู้จักรถไฟลาว-จีน
รถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 เพื่อร่วมฉลองวันชาติครบรอบ 46 ปีของการสถาปนา สปป.ลาว โดยในช่วงแรก มีสถานีที่จะเปิดให้บริการก่อน 21 แห่ง ส่วนอีก 12 สถานี จะเปิดให้บริการในระยะถัดไป โดยขบวนแรกใช้ชื่อขบวนว่า “ล้านช้าง” และขบวนที่สองใช้ชื่อว่า “แคนลาว”
รถไฟขบวน “ล้านช้าง” เป็นรถไฟ Fuxing EMU รุ่น CR200J คำว่า EMU(Electric Mutiple Unit) หมายถึงรถรางไฟฟ้าที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองโดยใช้พลังงานไฟฟ้า ไม่ต้องใช้หัวรถจักรสำหรับลากขบวนรถ ส่วน Fuxing หมายถึงรถไฟขบวนนี้ใช้เทคโนโลยีรถไฟฟูซิ่งห่าวของจีน ซึ่งเหมาะสมกับสภาพเส้นทางในลาว
“ล้านช้าง” เป็นรถไฟความเร็ว “ปานกลาง” ทำความเร็วได้ 160-210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผลิตโดยบริษัทหุ้นส่วนรถไฟซื่อฝ่ายชิงเต่าและบริษัทรถไฟต้าเลี่ยน ซึ่งทั้งสองบริษัท ขึ้นกับบริษัทรถไฟแห่งชาติจีน
ขบวน “ล้านช้าง” มี 9 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้รวม 720 ที่นั่ง ประกอบด้วยหัวรถจักร 1 ตู้ ถัดมาเป็นตู้โดยสารชั้น 1 รองรับผู้โดยสารได้ 56 ที่นั่ง ต่อด้วยตู้เสบียง 1 ตู้ ที่เหลืออีก 6 ตู้ เป็นตู้โดยสารชั้น 2 รองรับผู้โดยสารได้ 662 ที่นั่ง และมีที่นั่งพิเศษสำหรับคนพิการอีก 2 ที่นั่ง เฉพาะตู้โดยสารกว้าง 3.10 เมตร สูง 4.43 เมตร
อัตราค่าโดยสารสำหรับขบวนรถรับ-ส่งผู้โดยสาร ตู้โดยสารชั้น 2 กำหนดไว้ที่ 0.3 หยวน ต่อคน ต่อ 1 กิโลเมตร หรือ 350 กีบ ต่อคน ต่อ 1 กิโลเมตรคิดเป็นเงินบาทตกประมาณ 1 บาท ต่อคน ต่อ 1 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อรวมค่าโดยสารตั้งแต่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ถึงสถานีบ่อเต็น จะอยู่ที่ 140,000 กีบ หรือประมาณ 400 บาท เปรียบเทียบกับการเดินทางโดยรถยนต์ จะถูกกว่าถึง 1 เท่าตัว และใช้เวลาเดินทางสั้นกว่าถึง 20 ชั่วโมง
เส้นทางรถไฟลาว-จีน มีทั้งหมด 32 สถานี แต่ในปัจจุบันนี้ เปิดให้บริการด้านท่องเที่ยวแล้วทั้งหมด 6 สถานี ในฝั่งลาว นั่นคือ เฉพาะเส้นทาง “นครหลวงเวียงจันทน์ – บ่อเต็น” โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 4 ชั่วโมง 20 นาทีเท่านั้น เทียบกับเมื่อก่อนถ้าต้องเดินทางจากเวียงจันทน์ไปบ่อเต็น (600 กม.) จะต้องเดินทางโดยรถยนต์และใช้เวลานานถึง 13 ชั่วโมงเลยทีเดียว ระยะเวลาเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปยังสถานีปลายทางหลักๆ ยอดนิยม ใช้ระยะเวลาเดินทาง ดังนี้
- เวียงจันทน์ – วังเวียง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 5 นาที ราคาประมาณ 500 บาท (ตั๋วชั้น1)
- เวียงจันทน์ – หลวงพระบาง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 50 นาที ราคาประมาณ 957 บาท (ตั๋วชั้น1)
- เวียงจันทน์ – บ่อเต็น ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง 20 นาที ราคาประมาณ 1,618 บาท (ตั๋วชั้น1)
DAY 1 …Train to LAUNG PRABANG
จุดสตาร์ท เริ่มกันที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย เข้าสู่ สปป.ลาว ผ่านด่าน ต.ม. เข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์ ได้อย่างสะดวกโยธิน เพราะได้การจัดการอย่างมืออาชีพจากไลออน โสภณทำให้มีเวลาเหลือเฟือ จึงมีเวลาไป….
เที่ยวชมเมืองหลวงนครเวียงจันทน์
ไปถ่ายรูปเก๋ ๆ ที่ปะตูไซ ไฮไลท์ของนครหลวงเวียงจันทน์
และที่ขาดไม่ได้นั้นก็คือไปกราบสักการะสิงศักดิ์สิทธิ์ที่วัดสีเมือง
วัดสีเมือง เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของเวียงจันทน์ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1563 รวมอายุกว่า 456 ปี โดยมีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อสร้างเสาหลักเมือง ต้องมีการหาคนอุทิศชีวิตลงหลุมฝังเสาหลักเมือง เพื่อให้เป็นผู้เฝ้าปราสาทบ้านเมือง ป้องกันอริราชศัตรู มิให้มีโรคภัยเกิดแก่เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ผู้ครองนคร แต่ถ้าไม่มีใครอุทิศเจ้าอาวาสจะต้องอุทิศชีวิตเอง แต่ได้มีนางสีเมืองซึ่งท้อง 3 เดือน ยอมอุทิศตนกระโดดลงไปอยู่ก้นหลุมเสาหลักพร้อมกับม้าอีกหนึ่งตัว สำหรับสายมู ยิ่งต้องห้าพลาด ต้องมาสักการะกราบไหว้ให้ได้ เพราะวัดแห่งนี้จะโดดเด่นในเรื่องการให้โชคลาภ เงินทอง ใครที่ทำมาค้าขายจึงเหมาะที่จะมาขอพร เพราะจะช่วยเสริมดวงเรื่องเงินทองให้ร่ำรวยมากยิ่งขึ้น
หลังจากนั้นก็ได้เวลาเดินทางสู่สถานีรถไฟลาว-จีน ณ สถานีนครเวียงจันทน์ เพื่อนั่งรถไฟไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นก็คือหลวงพระบาง รถไฟออกเวลา 15.05 น. ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็น 2 ชั่วโมงที่แสนจะรื่นรมย์ด้วยธรรมชาติทิวเขาสองข้างทางสวยงาม เขียวชอุ่มร่มรื่น
หัวเชียงเกสต์เฮาส์ ไลออน โสภณบอกว่านี่คือที่พักที ที่สัปปายะที่สุดแล้วในการมาเที่ยวหลวงพระบาง เพราะมีทำเลอยู่กลางเมือง ใกล้แหล่งท่องเที่ยว สถานที่สำคัญในพื้นที่อย่าง พิพิธภัณฑ์พระบรมมหาราชวัง และ พระราชวังหลวง ตลาดเช้า และ Night Market และที่สำคัญคือสวยงาม และการบริการของพนักงานก็ใส่ใจลูกค้าแบบเต็มร้อย
หลังจากอิ่มหนำสำราญกับอาหารมื้อเย็นก็ได้เวลาไปเดินถนนคนเดิน หรือ Night Market หรือตลาดมืด ที่อยู่ข้าง ๆ ที่พัก ถนนคนเดินดูคึกคัก นักท่องเที่ยวหนาตาแล้วหน้าตาดันคุ้น ๆ จะไม่คุ้นได้ยังไง ก็เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวฟอร์มไทยแล้นนน ซะเกินครึ่ง
DAY 2 …Train to LAUNG PRABANG
ตื่นเช้า ๆ แล้วไปเติมพลัง พร้อมซึมซับวิถีลีลาชีวิตของความเป็นหลวงพระบางสไตล์ ที่ร้านกาแฟ ประชานิยม นี่คือร้านกาแฟที่เป็นซิกเนเจอร์ของหลวงพระบาง ใครมาหลวงพระบาง ต้องมาซึมซับความเป็นหลวงพระบางที่ร้านแห่งนี้
ร้านกาแฟ ประชานิยม เปิดตั้งแต่ตีสี่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงนอกจากจะมีบรรยากาศชิล ๆ สุดคลูแล้ว ยังมีเมนู หลากหลาย เช่น ขนมแป้งจี่ ปาท่องโก๋ โจ๊กใส่ไข่พะโล้ กาแฟโบราณ ไข่ลวก เฝอ และบาเก็ต ซึ่งแต่ละเมนูก็ยั่วให้น้ำลายสอ เมื่อท้องอิ่มแล้วต้องไปเดินทอดน่องส่องความเป็นหลวงพระบางสไตล์กันต่อที่ ตลาดเช้าหลวงพระบาง นี่คือศูนย์รวมความเป็นซิกเนเจอร์ ความชิค ความคลู ของชาวหลวงพระบางที่งดงามและทรงพลังประดุจว่าเราได้ถูกหลุมดำดูดย้อนหวนคืนสู่อดีตกาล นี่คือหนึ่งในสถานที่ ๆ ต้องขีดเส้นใต้ไว้ว่า…ต้องมา ต้องมา ต้องมา
หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง หรือ หอคำ เดิมคือพระราชวังของเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบาง จึงเรียกอีกชื่อว่า วังเจ้ามหาชีวิต สร้างเมื่อ พ.ศ. 2447 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ สืบทอดต่อมาถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของลาว ต่อมาปรับให้เป็นหอพิพิธภัณฑ์หลวง เมื่อ พ.ศ. 2519 โดยใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุและของมีค่า เช่น บัลลังก์ ธรรมาสน์ เครื่องสูงและราชูปโภคของเจ้าชีวิต พระพุทธรูป และวัตถุโบราณ รวมถึงของขวัญจากต่างประเทศ
วัดใหม่สุวรรณภูมาราม ตั้งอยู่ข้าง ๆ หอคำ ถือเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของหลวงพระบาง สร้างโดยเจ้าอนุรุทธและเจ้ามันธาตุราช ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชของลาวจนถึงสิ้นสมัยราชอาณาจักร ภายในวัดมีพระพุทธรูป พระธาตุ หอขวาง และที่เป็นแห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระบาง และยังใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา นี่คือสถานที่ศักดิ์สิทธ์ของหลวงพระบางที่ห้ามพลาด มาแล้วต้องมาสักการะกราบไหว้โดยเฉพาะสายมู
ส่วนสายแชะนั้นต้องห้าพลาดเด็ดขาดนั่นก็คือ สิม หรือโบสถ์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่โออ่าผสมผสานหลายสกุลช่างเข้าด้วยกัน เป็นสิมแบบโอ่โถงอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เกือบจะคล้ายกับสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดใหญ่ สูงโปร่ง เครื่องประกอบหลังคา มีช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์อย่างอุโบสถ์ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้วัดใหม่สุวรรณภูมาราม ในอดีตนั้นเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชลาวอีกด้วย
จากนั้นเดินทางไป น้ำตกตาดกวางสี ว่ากันว่านี่คือน้ำตกที่สวยที่สุดในหลวงพระบาง การมาน้ำตกกวางสีนอกจากเตรียมซาร์จแบตเตอรี่กล้องถ่ายรูปให้เต็ม เคลียร์เมมโมรี่การ์ดให้ว่าง เพราะสถานที่แห่งนี้มีมุมให้ถ่ายรูปมากมากมาย แล้วยังจะผีนายแบบ ผีนางแบบพร้อมที่จะเข้าสิงร่างเพื่อนร่วมทริป ให้เราช่วยถ่ายรูปมือเป็นระวิงแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ขอเตือนว่า ห้ามพลาดเด็ดขาด นั่นก็คือชุดที่ใส่สำหรับการเล่นน้ำ เพราะน้ำตกแห่งนี้เหมาะแก่การโดดลงไปแช่น้ำเป็นที่สุด ว่ากันว่าอุณหภูมิของน้ำตกกวางสีจะเย็น และมีสารบางอย่างที่ช่วยทำให้ผ่อนคลาย หายเหนื่อยเมื่อยหล้า…จึงอยากแนะนำว่าต้องพิสูจน์ ด้วยการกระโดดลงแช่น้ำดู
น้ำตกกวางสีตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงพระบาง ประมาณ 32 กิโลเมตร มี 4 ชั้น มีความสูงโดยรวมประมาณ 75 เมตร เป็นน้ำตกหินปูน น้ำในน้ำตกจึงมีสีเขียวมรกตสวยแปลกตา เล่นน้ำตกจนตัวเปื่อย แต่ต้องออมแรงเอาไว้ เพราะเย็นนี้มีโปรแกรมดินเนอร์ ด้วยการล่องเรือชมบรรยากาศยามเย็นของหลวงพระบาง และพิเศษไปกว่านั้น ไลออน โสภณ ได้จัดหมูกระทะไป 10 ชุด ซึ่งยังไม่เคยมีเจ้าไหนทำ แต่ไลออน โสภณทำ เปิดตลาดหมูกระทะด้วยการนำเอาลงเรือเป็นรายแรก เดี๋ยวคงมีคณะอื่น ๆ ทำตามแน่นอน มากับไลออน โสภณมันต้องเหนือกว่าคนอื่น 555
DAY 3 …Train to LAUNG PRABANG
ตักบาตรข้าวเหนียว นี่คือกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวไทยต้องแหกขี้ตาตื่นมาให้ทันตักบาตรให้ได้แม้จะแฮงค์ขนาดไหนก็ต้องตื่น ๆ 555 คณะเรา ยึดทำเลหน้าวัดแสนสุขาราม ซึ่งเป็นทำเลที่สวยเหมาะแก่การถ่ายรูป ยามที่พระภิกษุออกเดินเยื้องย่างมารับบาตรเพื่อโปรดสัตว์ เป็นทิวแถว โดยมีวัดเป็นแบล็คกราวน์สวยงาม
วัดเชียงทอง เป็นวัดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ชมความสวยงาม ของพระอุโบสถ พระวิหาร ที่ประดับกระจกสี กราบสักการะ พระประธาน และ พระม่าน พระพุทธสำคัญของวัดเชียงทอง วัดเชียงทองถือว่านี่คือซิกเนเจอร์อีกหนึ่งแห่ง ถ้ามาหลวงพระบางแล้วไม่ได้มาวัดเชียงทองก็เหมือนว่ามาไม่ถึงหลวงพระบางฉันนั้น
สักการะพระธาตุพูสี นี่คือกิจกรรมเอดเวนเจอร์เบา ๆ แต่ต้องใช้พลังขาหนักอยู่นะจ๊ะ ถ้าใครอ่อนรับรองมีหยอดน้ำข้าวต้ม 555 พูสีเป็นยอดเขากลางเมืองหลวงพระบาง โดยมีปลายทางอยู่พระธาตุที่ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา แต่รายทางนั้น จะมีจุดชมวิวสวย ๆ ของเมืองหลวงพระบางเป็นเครื่องบรรณาการ ความงามของสองข้างทางจะทำให้เราหายเหนื่อย
พระธาตุพูสี ตั้งอยู่เป็นยอดเขาคนพื้นถิ่นจะเรียกว่า พูสวง หรือ พูซวง เป็นยอดเขาที่มีความสูงราว 150 เมตร ซึ่งคำว่าพูสี มีความหมายว่า ภูเขาของพระฤาษี เดิมชื่อว่า ภูสรวง แต่เมื่อมีฤาษีไปอาศัยอยู่ชาวบ้านจึงเรียกว่าพูฤาษี หรือพูษีมาจนถึงปัจจุบัน พระธาตุนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนุรุท ประมาณพุทธศักราช 2337 ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของพูสี มองเห็นได้ไกลแทบทุกมุมเมืองของหลวงพระบาง
เมื่อแรงหมดก็ต้องมมาเติมพลังที่ ร้านปากห้วยมีไชย ซึ่งไลออน โสภณ เลือกร้านนี้ก็เพราะเป็นร้านที่มีชื่อเสียงร้านหนึ่งในหลวงพระบาง และการันตี ว่าจะไม่ผิดหวังในเรื่องรสชาติที่ถูกปากคนไทยแน่นอน
และแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องกล่าวคำอำลา บั่ยหลวงพระบาง เมื่อได้เวลาออกเดินทางไปสถานีรถไฟหลวงพระบาง เพื่อนเดินทางสู่นครหลวงเวียงจันทน์ รถไฟออกเวลา 13.5
3น. ใช้เวลา 2 ชั่งโมง ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ในระยะเวลาสั้น ๆ ที่แสนสะดวกสบายบนเบาะนิ่ม ๆ ของเจ้าลานช้าง หลังมาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ยังไม่ทันตั้งตัว ไลออน โสภณ ก็จัดเซอร์ไพร์สอีกดอกใหญ่ บอกว่าคืนนี้จะมีงานเลี้ยงต้อนรับคณะ โดยผู้ช่วยทูตทหารอากาศ ประจำ สปป.ลาว
นาวาอากาศเอก วสันต์ บัณฑิตศักดิ์สกุล ผู้ช่วยทูตทหารอากาศ ประจำ สปป.ลาว และ คุณสิริพร บัณฑิตศักดิ์สกุล ภรรยา ได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับครอบครัว นาวาอากาศเอก กมล พิบูลรัตนสังข์ และคณะ ที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน ซึ่งเป็นการปิดม่านทริป Train to LAUNGPRA BANG ในครั้งนี้ลงแบบแฮปปี้
ขอบคุณ
นาวาอากาศเอก วสันต์ บัณฑิตศักดิ์สกุล ผู้ช่วยทูตทหารอากาศ ประจำ สปป.ลาว และ คุณสิริพร บัณฑิตศักดิ์สกุล ภรรยา, นาวาอากาศเอก กมล พิบูลรัตนสังข์
อยากมีโมเมนต์ประทับใจในการไปหลวงพระบาง
ต้องไปกับ“ไลออน โสภณ สาสกุล” โทร 081 807 0801