กรมชลฯ ชักธง Street canal จ.นครปฐม
อัพเกรดการระบายน้ำแก้อุทกภัยลุ่มเจ้าพระยาตะวันตก
กรมชลประทาน ลุยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก จัดสำรวจโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) ส่งต่อ กนช. พิจารณาในภาพรวม ก่อนเข้า ครม. พิจารณาการก่อสร้างปี 2567-2569 หวังเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกสู่อ่าวไทย ด้านชาวบ้านขอให้มีการทำประชาพิจารณ์สร้างการรับรู้ เพื่อให้คนในพื้นที่มีส่วนในโครงการเพื่อประโยชน์องค์รวม
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเมื่อมีฝนตกต่อเนื่องบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา มักเกิดปัญหาน้ำหลากท่วมในพื้นที่ตลอด เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขาอื่น ๆ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยไม่ทัน กรมชลประทานมีโครงการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยล่าสุดคือโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก (ปี 2557-2560) ได้เสนอแผนรวมการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในปี 2564 ได้มอบหมายให้ กิจการร่วมการค้าหรือ PYPC JV ทำการสำรวจโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) จังหวัดนครปฐม
ซึ่งเป็นแผนงานที่ 4 ใน 9 แผนงานบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ดังนี้
1) โครงการปรับปรุงระบบชลประธานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง
2) โครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงคลองชัยนาท-ป่าสัก และ ช่วงคลองป่าสัก
3) โครงการคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3
4) โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก
5) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา
6) โครงการบริหารตัดการน้ำพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ
7) โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร
8) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน
และ 9) โครงการพื้นที่รับน้ำนอง
การสำรวจ ออกแบบ โครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ จังหวัดนครปฐม เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนถึงชายทะเล โดยระบายน้ำทั้งในแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเล ร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เกินกว่าศักยภาพของสถานีสูบน้ำเดิมที่มีอยู่ และสามารถเพิ่มการระบายน้ำได้ดีขึ้น มีความต่อเนื่องออกสู่อ่าวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตอนบน ตั้งแต่คลองมหาสวัสดิ์จนถึงคลองภาษีเจริญ โดยการปรับปรุง/ขุดคลองระบายน้ำและอุโมงค์ปริมาณน้ำ 30 ลบ.ม./วินาที ช่วยพร่องน้ำในคลองมหาสวัสดิ์เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำหลากตอนบนของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ของโครงการ ตลอดจนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง
“องค์ประกอบของโครงการนี้มีดังนี้ 1.งานปรับปรุง/ขุดคลอกคลองระบาย 10.552 กม. เป็นอาคารประกอบคลองระบายน้ำรวมทั้งสิ้น 60 อาคาร และปรับปรุงคลองใต้สะพาน 5 แห่ง มีพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการประมาณ 0.75 ไร่ 2.งานอุโมงค์ระบายน้ำ 6.998 กม. เป็นอาคารประกอบของอุโมงค์ระบายน้ำรวม 4 อาคาร พื้นที่ผลกระทบประมาณ 7.935 ไร่ โดยได้ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ และรับทราบข้อวิตกกังวลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แล้ว ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อโครงการได้เป็นอย่างดี โดยมีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้แล้ว” เฉลิมเกียรติฯ กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานแบ่งเป็น ศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงโครงข่ายชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างปี 2557-2560 ถัดมาคือ สำรวจออกแบบโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (2564-2565) ระยะเวลาดำเนินการ 540 วัน เริ่มปฏิบัติงาน 1 ก.ค. 2564 สิ้นสุดสัญญา 22 ธ.ค. 2565 และนำเสนอโครงการ ในภาพรวมต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อนุมัติหลักการ 9 แผนหลักและในระยะเวลาปี 2560-2572 ก่อนเสนอเปิดโครงการต่อคณะรัฐมนตรี เตรียมงานก่อสร้างและงานจัดเตรียมเอกสาร ประกวดราคาก่อสร้างโครงการประมาณปี 2567-2569 รวมถึงจ้างที่ปรึกษาบริการโครงการต่อไป
ด้านนางอรุณี จันทร์แจ่มศรี ตัวแทนชาวบ้าน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า “ตนและชาวบ้านในพื้นที่ มีความเป็นห่วงใยในเรื่องของน้ำท่วมเป็นอย่างมาก เพราะพื้นที่นี้ถือเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก บวกกับน้ำที่ท่วมในพื้นที่ก็เป็นน้ำเสีย เพราะโรงงานในย่านนี้เยอะ และถ้าถามว่ายินดีกับโครงการที่ภาครัฐจะนำเข้ามาบริหารจัดการในพื้นที่ไหม ต้องตอบเลยว่าไม่ เพราะพื้นที่แถวนี้ชาวบ้านอยู่กันมานาน เป็นที่ของปู่ย่าตายายซึ่งควรค่าแกการอนุรักษ์ แต่ถ้าจะทำให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ ตนและชาวบ้านก็คงต้องยอม แต่อยากให้มีการทำประชาพิจารณ์โดยให้คนในพื้นที่รับทราบโดยทั่วถึง เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนในพื้นที่ และประเทศชาติต่อไป”