กรมชลฯ ลุยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากลุ่มเจ้าพระยา
วาง 9 แผน กัก/เก็บ/ระบาย มั่นใจแก้ปัญหาได้จริง
กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง คลองเจ้าเจ็ด-อ่าวไทย จ.พระนครศรีอยุธยา แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ด้วยการระบายน้ำทิ้งในแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเลร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมการบริหารจัดการน้ำเพื่อการกักเก็บน้ำและนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และปริมาณน้ำหลากที่มีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต รวมถึงประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองต่าง ๆ ในปัจจุบันน้อยลง ทำให้คลองหลายสายไม่สามารถระบายลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างออกสู่อ่าวไทยได้ทัน
จากปัญหาดังกล่าว กรมชลประทาน จึงได้หาแนวทางการบรรเทาปัญหา โดยจัดทำแผนงานบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ซึ่งใน 9 แผนงานนี้ ได้วางงบประมาณรวม 239,400 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (2560-2566) 2) โครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงคลองชัยนาท-ปาสัก ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2561-2565) และช่วงคลองป่าสัก-อ่าวไทย ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (2562-2568) 3) โครงการคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 4) โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี (2561-2566) 5) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 6) โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 7) โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี (2562-2565) 8) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ แม่น้ำท่าจีน ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2561-2566) และ 9) โครงการพื้นที่รับน้ำนอง
โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง คลองเจ้าเจ็ด-อ่าวไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโครงการที่อยู่ในแผนงานที่ 4 เพื่อระบายน้ำในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ดออกสู่อ่าวไทยให้ได้มากที่สุด สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เพิ่มจาก 52 เป็น 130 ลบ.ม./วินาที ช่วยลดปริมาณการระยาบน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนได้ 50% และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บหรือระบายน้ำของแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย
กรมชลประทานได้ว่าจ้างให้กิจการร่วมค้า PFOWS JV เป็นผู้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ ระยะเวลาปฏิบัติงานรวม 720 วัน เริ่มปฏิบัติงาน วันที่ 11 มิถุนายน 2563 และสิ้นสุดสัญญา วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 โดยวัตถุประสงค์โครงการนี้เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง การบริหารจัดการน้ำหลากที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนถึงชายทะเล และปริมาณน้ำหลากบริเวณด้านเหนือคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ที่จำเป็นต้องระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยระบายน้ำทิ้งในแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเลร่วมกับการฝันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เกินกว่าศักยภาพของสถานีสูบน้ำเติมที่มีอยู่บริเวณริมแม่น้ำ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อการกักเก็บน้ำและนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง
สำหรับที่ตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ องค์ประกอบโครงการแบ่งเป็น Zone 4 : พื้นที่ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ถึง คลองพระยาบรรลือ Zone 5 : พื้นที่ตั้งแต่คลองพระยาบรรลือ ถึง คลองพระพิมล Zone 6 : พื้นที่ตั้งแต่คลองพระพิมล ถึง คลองมหาสวัสดิ์ Zone 7 : พื้นที่ตั้งแต่คลองมหาสวัสดิ์ ถึง คลองภาษีเจริญ Zone 8 : พื้นที่ตั้งแต่คลองภาษีเจริญ ถึง คลองมหาชัย-คลองสนามชัย Zone 9 : พื้นที่ตั้งแต่คลองมหาชัย-คลองสนามชัย ถึง คลองพิทยาลงกรณ์ ซึ่งการปรับปรุง/ขุดลอกคลอง ความยาวรวม 302.925 กิโลเมตร การปรับปรุง/ออกแบบอาคารบังคับน้ำ รวมจำนวน 26 แห่ง สะพานรถยนต์ข้ามคลอง 1 แห่ง
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ การพบปะหน่วยงานส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และประชุมกลุ่มย่อย 2 ครั้ง ซึ่งมีการสรุปประเด็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยภาพรวมของโครงการ มีประโยชน์ต่อชุมชนมากถึง 62% และมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น พื้นที่ส่วนใหญ่ของโซน 4 มักจะเกิดน้ำจะท่วมอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากคลองหรือประตูระบายน้ำมีขนาดเล็ก หากมีโครงการจะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้เกือบ 100%