ยกเครื่องโครงการ
แม่กลองใหญ่ฝั่งขวา
เสนอยกเครื่องโครงการแม่กลองใหญ่ฝั่งขวาเป็นแพกเกจ หลังพบมีปัญหาการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากเป็นโครงการเก่าแก่ และยังต้องเสริมความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมากขึ้น
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยหลังการลงพื้นที่โครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ว่า กรมได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งขวา ตามที่ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อครั้งเป็นอธิบดีกรมชลประทานได้ปรารภหลังลงพื้นที่และพบว่ามีปัญหาการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากเป็นโครงการเก่าแก่และมีปัญหาการส่งน้ำค่อนข้างมาก ควรมีการศึกษาปรับปรุงโครงการให้ชัดเจน
ทั้งนี้โครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานประมาณ 2.42 ล้านไร่ ใน จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี นครปฐม และบางส่วนของ จ.เพชรบุรี โดยแบ่งเป็นโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย และโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งขวา มีปริมาณน้ำจัดสรรเฉลี่ยปีละร่วม 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่า ในโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งขวา ซึ่งประกอบด้วยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่ามะกา และโครงการส่งน้ำฯ ราชบุรีฝั่งขวา ยังพบมีปัญหาการบริหารจัดการน้ำมากพอสมควร โดยเฉพาะระบบส่งน้ำ ทั้งคลองส่งน้ำและอาคารชลประทานชำรุดทรุดโทรมมาก และได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งต้องจัดทำโครงการปรับปรุงเป็นแพกเกจทั้งระบบ แทนการปรับปรุงเฉพาะหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหากเริ่มลงมือปีนี้สามารถเสนอพิจารณาอนุมัติได้เร็วที่สุดในปีงบประมาณ 2567
“เป็นงานที่ค่อนข้างยาก แต่ท้าทาย เพราะในโครงการมีทั้งเรื่องการส่งน้ำ การก่อสร้าง การส่งเสริมเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำด้วย แต่เป็นภารกิจที่ต้องทำ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร โดยเฉพาะการส่งน้ำ มีเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวเท่านั้น”
ปัญหาอีกประการหนึ่งจากผลการศึกษา คือปริมาณน้ำที่ส่งเข้าพื้นที่น้อยกว่าที่ออกแบบไว้ ร่วม 50% เช่น ปริมาณน้ำที่ส่งเข้า ปตร.ปากคลอง 1 ขวา เฉลี่ย 50 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่ออกแบบไว้ 92 ลบ.ม./วินาที หรือปากคลอง 2 ขวา เฉลี่ย 11 ลบ.ม./วินาที ออกแบบไว้ 22 ลบ.ม./วินาที ซึ่งกระทบต่อการส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร ต้องจัดรอบเวรส่งน้ำ
“เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำจะมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ การดูแลทรัพย์สินอาคารชลประทาน ภาพรวมยังไม่เข้มแข็งมากนัก ต้องขอความร่วมมือกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เข้ามาดำเนินการ เพื่อยกระดับความเข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่อไป” นายเฉลิมเกียรติกล่าว