มกอช. เร่งสร้างความเข้าใจผู้ประกอบการ ผู้ผลิต-ส่งออกลำไยสด
หลังพบลำไยส่งออกมีค่าปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินมาตรฐานความปลอดภัย
นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้ดำเนินงานยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เรื่อง เกษตรปลอดภัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน มาอย่างต่อเนื่อง โดย มกอช. ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (มกษ. 1004-2557) เป็นมาตรฐานบังคับ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นมา ซึ่งในปีที่ผ่านมา มกอช. ได้รับแจ้งจากหน่วยงานภาครัฐของประเทศผู้นำเข้าว่า พบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐาน ความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มกอช. โดยกองควบคุมมาตรฐาน ตรวจสอบพบว่า ลำไยที่ส่งออกมีค่าปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งเกิดจากผู้ผลิตและผู้ส่งออกลำไยสดยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการรมลำไยสดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ ดังนั้น มกอช. ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม กำกับ ดูแลผู้ผลิต และผู้ส่งออกลำไยสด ให้เป็นไปตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (มกษ. 1004 – 2557) จึงได้จัดโครงการสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจในการผลิตและส่งออกลำไยสดให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรประเภทลำไยสด มีความรู้ ความเข้าใจในการผลิตและการส่งออกลำไยสด ให้เป็นไปตามมาตรฐานบังคับ และเกณฑ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้า รวมทั้งเข้าใจแนวทาง การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ได้อย่างถูกต้อง
การสัมมนาดังกล่าว จัดขึ้นในรูปแบบการบรรยายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Online) โดยเป็นการบรรยาย ให้ความรู้ในเรื่องการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ให้ได้คุณภาพความปลอดภัยตามมาตรฐานบังคับ (มกษ. 1004-2557) การส่งออกผลไม้สดรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ผ่านระบบ TAS License การดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และบทกำหนดโทษ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกตามมาตรฐานบังคับ (มกษ. 1004-2557) ตัวแทนออกของ (shipping) ผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน (หน่วยรับรอง) และเจ้าหน้าที่ มกอช. ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 150 คน
“การตรวจพบว่าลำไยสดที่ส่งออกมีค่าปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศผู้นำเข้า นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงในด้านการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าเกษตรของประเทศไทยอีกด้วย เราจึงต้องเร่ง สร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน โดยการสัมมนาในวันนี้จะสร้างความรู้ ความเข้าใจในการผลิตและส่งออกลำไยสดให้เป็นไปตามมาตรฐาน และสามารถปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ได้อย่างถูกต้อง เมื่อสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานบังคับ กฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า และกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ ก็จะส่งผลให้ลำไยสดที่ส่งออกจากประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของประเทศผู้นำเข้า” รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว