นายกฯ-รมว.เกษตรฯห่วงน้ำท่วมใต้ / ชป. ตั้งศูนย์ส่วนหน้าบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห่วงน้ำท่วมใต้ กรมชลประทานตั้งศูนย์ส่วนหน้าบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก 2 จุด ที่ปากพนัง และสงขลา ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ จากส่วนกลางเสริมทัพภาคใต้ ทำงาน 24 ชม. เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใจต่อสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ได้สั่งการให้กรมชลประทานเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างดีที่สุด ซึ่งได้หารือกับนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เห็นว่าจากปริมาณฝนที่ตกหนักในพื้นที่ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่ได้ส่งไปประจำเพื่อเตรียมพร้อมไว้แล้วก่อนหน้านี้ มีไม่เพียงพอ จึงสั่งการให้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก(ส่วนหน้า) ที่สำนักงานชลประทานที่ 15 และ 16 เพื่อบูรณาการการทำงานทุกฝ่ายเป็นไปอย่างรวดเร็ว พร้อมระดมเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังคน จากส่วนกลางลงไปสมทบเพิ่มเติม เพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชนให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตามขณะนี้เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ที่ใช้ในการเร่งระบายน้ำ ซึ่งได้จัดเตรียมไว้ในพื้นที่ก่อนหน้านี้ กำลังทำงานอย่างเต็มศักยภาพตลอด 24 ชั่วโมง
“ท่านนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงพี่น้องชาวใต้จึงให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือเต็มที่ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ได้กำชับให้กรมชลประทานทำงานอย่างเต็มที่ ท่านพร้อมสนับสนุนการช่วยเหลือ ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่มีปริมาณมาก การตั้งศูนย์ฯส่วนหน้า 2 จุดคือ จ.นครศรีธรรมราช ที่สำนักงานชลประทานที่ 15 ปากพนัง และ สำนักงานชลประทานที่ 16 สงขลา จะทำให้ ผบ.ศูนย์ฯสามารถบูรณาการสั่งการได้ และล่าสุดกรมฯได้สั่งระดมเครื่องมือจากส่วนกลางลงไปเพิ่มเติม เพื่อให้การช่วยเหลือเร่งการระบายน้ำ พี่น้องประชาชนจะได้กลับเข้าบ้านเรือนได้เร็วที่สุด ปัจจุบันฝนยังตกต่อเนื่องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง และสงขลา กรมชลฯได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำในหลายจุดที่ประสบภัย เพื่อเร่งการระบายน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด ทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมกับพี่น้องประชาชนและหน่วยงานในท้องที่” นายประพิศฯ กล่าว
ทั้งนี้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่และเครื่องมือได้เข้าประจำยังจุดประสบอุทกภัยมาอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งเครื่องสูบน้ำ 40 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 30 เครื่อง และรถขุดแบคโฮ 30 คัน สำรองไว้ในพื้นที่ และเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 3 วันที่ผ่านมา โดยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทานที่ 15 ได้ตั้งเครื่องสูบน้ำ 27 เครื่อง เร่งระบายน้ำในพื้นที่อำเภอเมือง 7 เครื่อง อำเภอชะอวด 5 เครื่อง อำเภอปากพนัง 12 เครื่อง อำเภอทุ่งใหญ่ 3 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 22 เครื่อง ในพื้นที่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช 15 เครื่อง และอ.ปากพนัง 7 เครื่อง ปัจจุบันภาคใต้ มีพื้นที่ประสบอุทกภัยใน 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา ตรัง และนราธิวาส ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าปริมาณฝนจะเริ่มลดลง สำหรับศูนย์ฯส่วนหน้านี้ จะตั้งไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์