สระบุรี เมืองสำคัญทางโบราณคดี และทางประวัติศาสตร์
ชมวิถีชุมชน-วัฒนธรรมไทยวน
คำว่า สระบุรี ที่ปัจจุบันนิยมอ่านว่า สะ-ระ แต่เดิมมาจากคำว่า สระ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับสระน้ำโบราณสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นศาสนสถานเขมร แต่ปัจจุบันชาวสระบุรีรวมถึงชาวจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ได้ลืมเลือนความหมายของคำดังกล่าวจากความทรงจำไปแล้ว
นายสุฤกษ์ ศิลปอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระบุรี ได้จัดกิจกรรมนำคณะสื่อสัญจร ลงพื้นที่เยี่ยมชมวัฒนธรรม วิถีชาวบ้านเพื่อเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงาม และรู้จักกับอาหารพื้นถิ่น ที่นับวันจะหารับประทานได้ยาก ณ บ้านบกใหญ่ อำเภอหนองแซง สระบุรี
จุดแรกที่ไปถึงคือวัดอู่ตะเภา ศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านบกใหญ่ เพื่อสักการะหลวงพ่อขอม พระพุทธรูปที่แกะมาจากหินทราย มีอายุนับร้อยปี วัดอู่ตะเภาเดิมชื่อ ”วัดอู่สำเภาทอง” ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านอู่ตะเภา หมู่ 6 ตำบลม่วงหวาน อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี เป็นวัดเก่าแก่มีอายุกว่า 100 ปี สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2431โดยพระอุปัชฌาย์ตัน คนฺโธ เป็นผู้นำในการก่อสร้าง
ต่อมาทางคณะเดินทางต่อไปยังชุมชนบ้านบกใหญ่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดเท่าใดนัก เพื่อชมการทำอาหารพื้นบ้านยุคโบราณ ที่เรียกว่า “ข้าวหยด”บอกได้คำเดียวว่า อร่อยมาก ส่วนหน้าตาของข้าวหยดมีน้ำปรุงรสคล้ายต้มจืดฟักแต่ใส่แป้งที่บดมาจากข้าว หน้าตาคล้ายๆลอดช่องลงไปด้วย ก่อนจะตบท้ายกันด้วยขนมเปียกปูน สูตรโบราณ ที่เหนียวนุ่มและหอม
จากนั้นทางคณะได้นั่งรถอีแต๋น ไปชมนาข้าวและวิถีชุมชน ก็รู้สึกแปลกใจเพราะใช้วิธีหว่านข้าวลงในนาที่ปรับไถแล้ว เรียกว่า”สำรวย”จากนั้นก็รอกันจนฝนจะตก จะได้ผลดีหรือไม่ ก็แล้วแต่ดวง ต่างกับการทำนาของชาวนาอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ที่ปลูกข้าวกันปีละหลายหน เพราะมีแหล่งน้ำมากมาย
ส่วนอาชีพอื่น นอกจากทำนา ก็คือ การสานกระบุง และภาชนะเครื่องใช้ ทั้งเครื่องมือดักปลาหรือไซ ตาข้องใส่ปลา รวมถึงการถักพรมเช็ดเท้า เปลญวน ฯลฯ
ผอ.สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่าขณะนี้ได้จัดโครงการ”ส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชาวนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก”ขึ้น โดยได้จัดทำเส้นทางท่องเที่ยววิถีชาวนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสักรวม 6 จังหวัดภาคกลางตอนบน(สระบุรี,ลพบุรี,ชัยนาท,สิงห์บุรี,พระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง) โดยดึงเอาเสน่ห์ จุดเด่น อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดออกมาจัดเป็น 3 เส้นทางหลักๆได้แก่เส้นทางที่ 1 จังหวัดสระบุรีและลพบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่หลากหลาย
เส้นทางที่ 2 จังหวัดชัยนาทและสิงห์บุรี ซึ่งเป็นเส้นทางอู่ข้าว อู่น้ำและอาหาร ปลาแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ และเส้นทางที่ 3 คือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง ซึ่งเป็นเส้นทางของงานหัตถศิลป์หัตกรรม อันเป็นการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชุมชนที่บ่งบอกถึงตัวตน อัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ที่ดีงามเอาไว้โดยผ่านเรื่องราวต่าง ๆ เช่น วิถีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของวิถีชาวนาในแต่ละชุมชน,ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธ์ุ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาหารพื้นบ้านรวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ภายในกลุ่มจังหวัด ภาคกลางตอนบน เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
จากนั้น เดินต่อไปยัง หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน ตั้งอยู่ เลขที่ 48 หมู่ 6 ต.ดาวเรือง อ.เมือง สระบุรี เพื่อไปชมบ้านเรือนไทย บ้านไม้โบราณอายุกว่า 200 ปี และศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนในจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวล้านนา ที่ถูกกวาดต้อนอพยพมาจากเมืองเชียงแสน เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว
หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน แห่งนี้ เกิดจากแรงบันดาลใจของอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ที่ต้องการจะอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ให้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสืบสานมรดกทางด้านปัญญาและวัฒนธรรม ชาติพันธ์ไทยวนสระบุรี ฝึกอบรมเยาวชนให้เรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ศิลปะการแสดง รำโยนก การทำอาหาร สำรับขันโตก ตัดกระดาษ การทำโคม ตุง งานใบตอง งานทอผ้า ย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติและใช้ชีวิตตามวิถีแท้จริงของชาวไทยวนมาแต่ครั้งโบราณ
นอกจากนี้ยังได้รวบรวมสถานที่และสิ่งของ อาทิ เรือนของเจ้าเมืองสระบุรี เรือนของพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธ เรือนของเสือคง โจรเลื่องชื่อในอดีตในจังหวัดสุพรรณบุรี ผ้าทอโบราณ เรือพื้นบ้านที่ใช้ลุ่มน้ำป่าสักและภาคกลางกว่า 20 ลำ
ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ มีผู้สร้างละครและภาพยนตร์หลายค่าย มาถ่ายทำไปแล้วเป็นร้อย ๆ เรื่อง เช่น บุพเพสันนิวาส เจ้านาง แม่นาคพระโขนง ฯลฯ และกำลังจะมาถ่ายทำกันอีกหลายค่าย
ก่อนจบทริป คณะสื่อได้แวะชิม และช็อปของฝากกันที่ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล ตลาดพื้นบ้านวิถีไทยวน และไปไหว้พระที่วัดเขาแก้ววรวิหาร เดิมทีเป็นวัดราษฎร์ สร้างเมื่อ พ.ศ.2171 สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมต่อมารัชกาลที่ 4 เสด็จมาบูรณะปฏิสังขร ให้มีสภาพสวยสมบูรณ์