กรมชลฯเผยพ้นวิกฤติภัยแล้งในรอบ40ปีแล้ว เตรียมรับมือฝนปี63
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงข่าวถึงผลการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี62/63 พร้อมกับบริหารจัดการน้ำฤดูฝนและเตรียมการณ์รับมือปี2563 ร่วมกับนาวาเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายทองเปลว กล่าวว่า กรมชลฯสามารถบริหารจัดหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ให้พ้นวิกฤติรุนแรงอันดับ2 ในรอบ40ปีรองจากปี22 โดยได้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะขอบคุณประชาชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งถือเป็นพระเอกในการทำงานภายใต้สถานการณ์วิกฤติภัยแล้ง เป็นผลให้ทั้งปีมีพื้นที่ประกาศภัยแล้งเหลือเพียง29จังหวัด จากเดิมที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)คาดไว้ว่าจะมีพื้นที่ประกาศภัยแล้งมากถึง58จังหวัด จึงถือเป็นผลงานที่ทุกหน่วยงานร่วมมือกันจนเป็นผลสำฤทธิ์ที่จับต้องได้
ทั้งนี้แผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 1พ.ค.63 ถึง1ต.ค.63 และจากคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีฝนตกต่ำค่าเฉลี่ย5% กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดการน้ำฤดูฝนปี63 ดังนี้ จะมีการจัดสรรน้ำ ณ 1 พ.ค.63 ประมาณ 11,975ล้านลบ.ม.จะแบ่งเป็นใช้เพื่ออุปโภค บริโภค 2,980ล้านลบ.ม.(25%) รักษาระบบนิเวศ และอื่นๆ3,654ล้านลบ.ม.(30%) ภาคเกษตร 4,974ล้านลบ.ม.(42%)ภาคอุตสาหกรรม 367ล้านลบ.ม.(3%)โดยมีแผนสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี63 โดยสนับสนุนเพาะปลูกข้าวเต็มพื้นที่ชลประทาน 27.61ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปี16.79ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 5.4แสนไร่ และอื่นๆ10.29ล้านไร่
สำหรับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้มีแผนจัดสรรน้ำฤดูฝนปี63 จำนวน4,000ล้านลบ.ม.แบ่งเป็นอุปโภค บริโภค 1,480ล้านลบ.ม.(37%) รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ370ล้านลบ.ม.(9%) การเกษตร 1,800ล้านลบ.ม.(45%) ผันน้ำแม่กลอง ไปลุ่มเจ้าพระยา350ล้านลบ.ม.โดยแผนการเกษตร ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝน2.4ล้านไร่ เป็นข้าวนาปี9แสนไร่ พืชไร่ พืชผัก2.2แสนไร่ อื่นๆ1.3ล้านไร่
“ในปีนี้ กรมชลประทาน หนุนการเพาะปลูกเต็มพื้นที่โดยขอให้พี่น้องประชาชนใช้น้ำฝนทำการเกษตรเป็นหลัก ยกเว้นพื้นที่ไหนแห้งแล้งจริงๆ กรมชลฯจึงจะใช้น้ำเขื่อนเข้าไปเสริม ปีนี้นโยบายของกรมชลฯคือการเก็บน้ำทุกเม็ดเพื่อรักษาปริมาณน้ำให้มากที่สุด แต่ทั้งนี้ให้ทุกเขื่อนบริหารจัดการน้ำเป็นตามเกณฑ์บริหารควบคุมน้ำ ที่มีการปรับใหม่ให้เป็นแบบไดนามิกส์ หรือพลวัตร “นายทองเปลว กล่าว
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าในการประชุม อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ในปีนี้ว่าจะมีพายุโซนร้อนเข้าประเทศไทย 1-2ลูกในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.-ต.ค.ในแนวพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในเรื่องการคาดการณ์ปริมาณฝนเฉลี่ย จะเห็นว่าฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย5-10%ถือเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแบบใหม่ ตามสภาวะอากาศแปรปรวน สามารถเรียกได้ว่าค่าเฉลี่ยปกติในรูปแบบใหม่ หรือนิวนอมอล รวมทั้งพฤติกรรมการตกของฝน จะตกเป็นจุดๆและมักตกในพื้นที่ขอบประเทศ ขอบแม่น้ำโขง ขอบจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เมียนมา และมาขอบจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมด กรมได้นำโมเดลในอดีตมาวางแผนปฏิบัติรับมือสถานการณ์
นอกจากนี้กรมได้ใช้โมเดลปี2538 ที่มีพายุเข้าไทย1-2ลูกในเดือนส.ค.ชื่อพายุโลอีส มาวางเป็นเกณฑ์ในการบริหารน้ำ เพื่อกำหนดพื้นที่ได้รับผลกระทบ ในขณะนั้นมีประมาณ 6จังหวัด โดยในปีนี้คาดว่ามีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน ศรีสะเกษ ซึ่งเตรียมบริหารจัดการไว้แล้ว รวมทั้งตรวจสอบสภาพของเขื่อน เครื่องมือบริหารต่างๆ ดังนั้นจากอิทธิพลพายุเข้า1-2ลูก จะมีให้ฤดูแล้ง ณ วันที่1 พ.ย.63 มีน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย52-74%ของความจุอ่างทั้งหมด หรือประมาณ50,430ล้านลบ.ม.(71%)ถึง60,449ล้านลบ.ม.(85%) มีน้ำใช้การได้ 26,887ล้านลบ.ม.(57%)ถึง36,906ล้านลบ.ม.(78%) ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การได้มากกว่า ปี62 จำนวน3,029 ล้านลบ.ม. แต่ปีนี้สถานการณ์ในลุ่มน้ำแม่กลอง จะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา