ชป.ย้ำน้ำในเขื่อนสำรองไว้ใช้อุปโภคบริโภคต้นฤดูฝน แนะเกษตรกรปลูกข้าวนาปีรอฝนตกชุกปกติ
สืบเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆอยู่ในเกณฑ์น้อย ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดในยามนี้ จำเป็นต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศในช่วงต้นฤดูฝนนี้เท่านั้น พร้อมแนะนำให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปี เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนและมีฝนตกสม่ำเสมอ
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำใน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(16 เม.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 36,671 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 12,977 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,930 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 2,234 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (16 เม.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 15,746 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,229 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนฯ
ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2563 ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 15 เม.ย. 63) ทั้งประเทศมีการทำนาปรังไปแล้ว 4.21 ล้านไร่(แผนฯวางไว้ 2.31 ล้านไร่) เกินแผนฯไปแล้วร้อยละ 82 เก็บเกี่ยวแล้ว 2.56 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.75 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ทำการเพาะปลูก
สำหรับแผนการเพาะปลูกข้าวนาปีฤดูฝนในเขตชลประทานปี 2563 ได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งประเทศ 16.79 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยากำหนดให้มีการเพาะปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก 265,000 ไร่ โดยเริ่มส่งน้ำให้ทำนาปีตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2563 ปัจจุบันเกษตรกรได้เริ่มทำการเพาะปลูกไปแล้ว 20,346 ไร่ หลังจากนั้นจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำหลากจากลุ่มน้ำยมตอนบนในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจและบรรเทาอุทกภัยในเขตจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก รวมไปถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วย ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย ต้องสงวนไว้ใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น จึงไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปีแบบเหลื่อมเวลาเหมือเช่นปีที่ผ่านมาได้ เห็นควรให้เกษตรกรเริ่มทำนาเมื่อกรมอุตุวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนตกชุกปกติ ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำให้ทำการเพาะปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และพื้นที่ดอนให้ทำการเพาะปลูกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป
ส่วนพื้นที่อื่นๆ แนะนำให้ทำการเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนและมีปริมาณในแหล่งน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันตก แนะนำให้ทำการเพาะปลูกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ให้ทำการเพาะปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ทั้งนี้ นอกเหนือจากการประกาศเข้าสู่ฤดูฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว ขอให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประกอบกับต้องมีฝนตกในพื้นที่สม่ำเสมอด้วย เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการเตรียมแปลงและปลูกข้าว เน้นให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและใช้น้ำชลประทานเสริม กรณีที่เกิดฝนทิ้งช่วง