กรมชลฯ เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำและแผนเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี2563 รวมถึงมาตรการจัดการน้ำภาคตะวันออก และการจ้างงานบรรเทาผละกระทบภัยแล้ง
กรมชลประทาน จัดแถลงข่าวการบริหารจัดการน้ำและแผนเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี2563 หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการบริหารจัดการน้ำ ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้
วันนี้(20มี.ค63) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการแถลงข่าว “การบริหารจัดการน้ำและแผนเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี2563” โดยมี นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีฝ่ายบริหาร พร้อมด้วยผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องประชุมswoc ชั้น3 อาคาร 99ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (20 มี.ค. 63) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 39,495 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 15,775 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 9,536 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,840 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 ทั้งประเทศล่าสุด(20มี.ค.63) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 13,006 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 3,509 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของแผนฯ
เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อย ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำเพื่อปลูกข้าวนาปี รวมถึงในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง สำหรับพื้นที่ทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ แผนการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 (ระหว่าง 1 พ.ค. – 31 ก.ค. 2563) โดยเน้นจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศและพืชต่อเนื่อง รวมจำนวน 1,656 ล้านลูกบาศก์เมตร ในส่วนของพื้นที่การเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำนั้น จากการคาดการณ์จะมีปริมาณน้ำคงเหลือในช่วงฝนทิ้งช่วงเพียง 421 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ในพื้นที่เป้าหมาย 265,000 ไร่ เช่นเดียวกับเมื่อปี 2560 ปริมาณน้ำที่จัดสรร 310 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในรอบแรกจะเริ่มทำการส่งน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 และจะทยอยส่งน้ำตามแผนเข้าพื้นที่ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งตอนล่าง สามารถเริ่มการเพาะปลูกได้ต่อเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู้ฤดูฝน มีฝนตกอย่างสม่ำเสมอ และมีน้ำเพียงพอ
สำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ผ่านโครงข่ายน้ำเชื่อมโยงระหว่าง จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำแบบอ่างฯพวง และการสูบผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการด้านอุปโภค-บริโภค ด้านการเกษตร และด้านอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีการสูบผันน้ำช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดระยอง จากคลองวังโตนด มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ วันละประมาณ 430,000 ลบ.ม. ปริมาณการผันน้ำสะสม 5.79 ล้าน ลบ.ม. จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มายังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล วันละ ประมาณ 600,000 ลบ.ม. ปริมาณการผันน้ำสะสม 33.11 ล้าน ลบ.ม. และจากอ่างฯคลองใหญ่มายังอ่างฯหนองปลาไหล วันละประมาณ 130,000 ลบ.ม. ปริมาณการผันน้ำสะสม 1.49 ล้านลบ.ม.
ด้านการช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดชลบุรี กรมชลประทาน ได้ดำเนินการสูบผันน้ำเติมอ่างฯบางพระ ปริมาณน้ำตามแผน 3 ล้าน ลบ.ม. โดยการขุดลอกคลองหลวง จากท้ายอ่างฯคลองหลวงถึงคลองพานทอง ระยะทาง 60 กิโลเมตร เพื่อระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง มาที่สถานีสูบพานทอง โดยได้รับความร่วมมือจากมณฑลทหารบกที่ 14 ในการควบคุมการลำเลียงน้ำมาถึงจุดสูบน้ำ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท อีสวอเตอร์ จำกัด (มหาชน) และการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพัทยา จัดหาน้ำจากบ่อดินเอกชน ในพื้นที่ จ. ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เสริมเข้ามาในระบบอีกประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้มีน้ำเพียงพอไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
สำหรับมาตราการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามนโยบายการช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการดำเนินโครงการจ้างแรงงานในปีงบประมาณ 2563 สำหรับงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำโดยจะดำเนินการจ้างแรงงานทั่วทุกภาคของประเทศ ในวงเงินงบประมาณ 3,800 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานได้ไม่น้อยกว่า 51,000 คน ระยะเวลาในการจ้าง 3-7 เดือน ซึ่งเกษตรกรจะได้ค่าจ้างแรงงานวันละ 377 บาท หรือประมาณเดือนละ 8,000 บาท รายได้ตลอดระยะเวลาการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-58,000 บาท/คน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ทำ เป็นไปตามมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในฤดูแล้ง ปัจจุบันจ้างแรงงานทั้งประเทศไปแล้วกว่า 9016 คน