ลั่นฆ้อง ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12’ ระดมสมองถก 4 ประเด็นสุขภาพ
สะท้อนสุขภาวะคนไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลงสู่การพัฒนาสังคม
เปิดงาน “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12” สุดยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด “ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง…สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ” มีสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและผู้เข้าร่วมงานจากภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 2,500 คน โดยปีนี้มี 4 ประเด็นสำคัญที่มีผลต่อสุขภาวะคนไทยเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ได้แก่ 1.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน 2.วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว 3.รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง และ 4.การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยงานมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ที่ถูกกำหนดขึ้นโดย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เป็นเวทีสาธารณะที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยผู้แทนของหน่วยงานองค์กรและเครือข่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมจะได้ร่วมกันใช้ความรู้ ความเข้าใจ และบทบาทหน้าที่ร่วมกันพิจารณาจัดทำข้อเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่ง 4 ประเด็นที่ถูกนำเข้ามาพิจารณาร่วมกันในปีนี้ ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่ใกล้ตัว มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งบางประเด็นสำคัญ เช่น อาหารปลอดภัย และการออกกำลังกายนั้น เคยเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาก่อน และผ่านการขับเคลื่อนจากภาคีที่เกี่ยวข้อง จนเห็นความสำคัญร่วมกันและกำลังมีการผลักดันเป็นวาระแห่งชาติในปี 2563 ต่อไป
นายแพทย์กิจจา เรืองไทย ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ประจำปี 2562 กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพเป็นรูปธรรมของกระบวนการที่สร้างให้เกิดความเข้าใจว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของทุกคน ทุกภาคส่วน เพราะต่างก็ได้รับผลกระทบทางใดทางหนึ่ง การพัฒนาทุกนโยบายจึงจำเป็นต้องสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และหลังจากได้มติสมัชชาสุขภาพมาแล้ว ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องร่วมกันเป็นเจ้าของและขับเคลื่อนนโยบายที่ร่วมสร้างไปสู่การปฏิบัติด้วย
สำหรับประเด็นหลักของงานปีนี้คือ ‘ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง…สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ’ สอดคล้องกับสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Disruption ในทุกวงการ เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มที่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแย่งงานส่งผลให้การจ้างงานลดลงเร็วเกินคาด ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินคาด สิ่งเหล่านี้มีผลต่อสุขภาวะทั้งทางกาย ใจ สังคม และปัญญาของทุกคน เราจึงต้องการสื่อสารให้สังคมเห็นความสำคัญของการจำเป็นต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงรอบด้านนี้เพื่อเตรียมรับผลกระทบที่ตามมาด้วย
นางทิวาพร ศรีวรกุล ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า สภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่กำลังถดถอยเป็นวิกฤตที่สร้างโอกาสในการปรับโครงสร้างทุกด้านของสังคม ซึ่งในปัจจุบัน เกษตรกรมีชีวิตอยู่กับความเสี่ยงทั้งด้านรายได้และสุขภาพ เพราะได้รับการส่งเสริมให้ทำเกษตรเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างรุนแรงมาตลอดหลายสิบปี จนกระทั่งมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในเวลานี้ ข้ออ้างที่ว่าไม่ควรยกเลิกสารเคมีอันตรายเพราะรัฐยังไม่มีสารทดแทนให้ใช้ในการทำเกษตรนั้นไม่เป็นความจริง ประเทศไทยมีสารชีวภัณฑ์หลายชนิดที่ผ่านการวิจัยแล้วว่าใช้ทดแทนสารเคมีได้มานานกว่า 20 ปี
ขณะนี้กลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดกาญจนบุรี ทีมบริษัทประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคมจำกัด และภาคประชาสังคม กำลังร่วมกันนำร่องตั้งโรงงานผลิตแปรรูปสมุนไพรมาใช้ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งในอนาคต พืชอินทรีย์จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างความโดดเด่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยให้สินค้าเกษตรอาหารไทยในตลาดโลก
นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้มีผู้เข้าร่วมหลากหลายกว่า 2,500 คน ประกอบด้วย สมาชิกสมัชชาสุขภาพซึ่งมาจากผู้แทนจาก 254 กลุ่มเครือข่ายทั่วประเทศ ได้แก่ ผู้แทนเครือข่ายพื้นที่ทั้งระดับจังหวัด ระดับเขต เครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชนและเอกชน เครือข่ายภาควิชาการและวิชาชีพ เครือข่ายภาครัฐและการเมือง และเครือข่ายเฉพาะประเด็น นอกจากนี้ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ และผู้สังเกตการณ์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยจะมีการถ่ายทอดสดตลอดงานผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ออนไลน์ www.healthstation.in.th และวิทยุชุมชนหลายสถานี
“เป้าหมายของกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อยู่ที่การสร้างสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดีของสังคมร่วมกันตามแนวทาง ‘สร้างนำซ่อม’ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และแนวทางการอภิบาลระบบสุขภาพโดยเครือข่าย หรือ Governance by network” นพ.ประทีป กล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นการดำเนินกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในปีนี้นอกเหนือจากการพิจารณา 4 ระเบียบวาระหลักแล้ว ยังมีการประกาศชื่นชมรูปธรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวมไปถึงวงเสวนาหลากหลายประเด็น เช่น “ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงสู่การสร้างสุขภาวะระดับจังหวัด” โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เป็นประธานและร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารและผู้นำท้องถิ่นระดับจังหวัดทั่วประเทศ วงเสวนา “รู้เท่าอย่างสร้างสรรค์ รู้ทันอย่างเขาใจ เด็กไทยกับโลกออนไลน์” เวที “การป้องกัน ควบคุม และจัดการผลกระทบจากนโยบายการใช้กัญชาทางการแพทย์” เสวนา “PM2.5 ฝุ่นขนาดเล็กผลกระทบที่ไม่เล็กต่อสังคมไทย” HIA Forum: “การสร้างชุมชนสุขภาวะภายใต้พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก” เป็นต้น