รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เดินหน้านโยบายเพื่อคนพิการ.ผู้ติดบัตรคนพิการเดินทางฟรี
รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สร้างความเท่าเทียมในการเดินทาง พัฒนานโยบายหลากหลายเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทางแก่คนพิการ เผย ผู้ติดบัตรคนพิการที่ออกโดยสำนักงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ใช้บริการฟรี
นายณัฐพงษ์ นวลสนิท ผู้จัดการส่วนความปลอดภัยและควบคุมคุณภาพ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เผยว่า “นโยบายด้านการอำนวยความสะดวกแก่คนพิการของบริษัทฯ ต่อยอดมาจากนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มีนโยบายให้คนพิการทุกคนสามารถใช้ระบบขนส่งมวลชนได้อย่างเท่าเทียม (Transport for all)
ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม ได้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย รวมทั้งการสัมมนาฝึกอบรม และมีการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการสำรวจด้านความต้องการของคนพิการโดยเฉพาะ โดยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งมีผู้โดยสารที่เป็นคนพิการเฉลี่ยวันละ 60 -70 คนนั้น นอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน อาทิ ลิฟท์ ทางลาด ทางพาดระหว่างตัวรถกับชานชาลา พื้นที่ในขบวนรถไฟฟ้าสำหรับรถวีลแชร์ ที่นั่งพัก รวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆในการโดยสารแล้ว บริษัทฯยังมีการออกแบบนโยบายที่ชื่อว่า Universal Design (UD) หรือนโยบายเพื่อสร้างความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินทางของคนพิการโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับการยอมรับจากภาคีเครือข่ายคนพิการ และได้ชื่อว่าเป็นนโยบายที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบที่สุดเพื่อคนพิการสำหรับการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะระบบรางที่เปิดในประเทศไทย ณ ขณะนี้”
“นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนผู้ทุพพลภาพ ทำให้มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับคนพิการจริงๆ ซึ่งผู้แทนคนพิการของภาคีที่มาทำงานร่วมกัน จะคอยสำรวจว่าการให้บริการของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ทั้งในขบวนรถและบริเวณสถานี ยังขาดสิ่งใดบ้าง และหากพบว่ายังต้องการสิ่งใดเพิ่มเติม จะทำการแจ้งเพื่อให้บริษัทฯสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีและสมบูรณ์ที่สุด นอกจากนั้น ในกิจกรรมฝึกอบรมต่างๆของบริษัทฯ ยังได้มีการเชิญคนพิการมาร่วมด้วยอยู่เสมอ อาทิ การฝึกซ้อมจำลองเหตุการณ์เกี่ยวกับอุบัติเหตุฉุกเฉิน ซึ่งในการฝึกซ้อม ได้มีการเชิญคนพิการมาร่วมซ้อม เพื่อการเตรียมพร้อมที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนั้น บริษัทฯยังได้มีนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการทางสายตา ที่จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลตั้งแต่เข้ามาภายในสถานีจนกระทั่งออกจากสถานี รวมถึงการอำนวยความสะดวกแก่คนพิการทางการได้ยิน โดยมีการใช้เครื่องแปลภาษาที่เรียกว่า TTRS ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้ให้นโยบายเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่อง TTRS เพื่อให้คนพิการทางการได้ยินสามารถใช้บริการทั้งที่หน้าเคาน์เตอร์บนสถานีและในระบบ Call center ได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าผู้โดยสารทั่วไป”
“ด้านแผนการดำเนินงานในอนาคต บริษัทฯยังคงมุ่งมั่นพัฒนานโยบายต่างๆเพื่อให้สอดคล้องและตรงตามมาตรฐานพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในทุกข้อ โดยในขณะนี้ การดำเนินงานถือว่ามีความสมบูรณ์เกือบครบถ้วน ทั้งการมีป้ายบอกทางสำหรับคนพิการทางการได้ยิน การมี Warning block สำหรับคนพิการทางสายตา เป็นต้น อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่คนพิการ ทั้งในด้านการให้บริการ รวมทั้งด้านค่าโดยสาร ซึ่งผู้โดยสารที่มีบัตรคนพิการที่ออกโดยสำนักงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ จะสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ” นายณัฐพงษ์ กล่าว